Business

‘แบงก์ชาติ’ โต้ ‘สหรัฐ’ ย้ำไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อผลทางการค้า  

“แบงก์ชาติ” โต้ “สหรัฐ” ย้ำไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า ชี้การประเมินไม่กระทบต่อนโยบายแบงก์ชาติ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐ (U.S. Treasury) เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ  ฉบับล่าสุด ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List จากที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์  และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐ โดยในรอบนี้ มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และอินเดีย

อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจ ที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์

ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติ ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐ  เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น และจะเข้าดูแลค่าเงินบาท เมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า และไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ธปท.1

เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจาก กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยรายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงิน โดยระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนาม เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน ส่วนไทยติดโผ 3 ประเทศที่ถูกเพิ่มในบัญชีเฝ้าจับตา ที่ต้องสงสัยว่า ใช้มาตรการลดค่าเงิน เมื่อเทียบกับดอลลาร์

รายงานว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับครึ่งปี ของกระทรวงการคลังสหรัฐ เผยแพร่วานนี้ (16 ธ.ค.) ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนามแทรกแซงตลาดเงินตรา เพื่อส่งผลกระทบต่อดุลการชำระเงิน ส่วนกรณีของเวียดนามนั้น ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ในการทำการค้าระหว่างประเทศ

นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราคาดหมายกันไว้แล้วว่า กระทรวงการคลังสหรัฐ จะเพิ่มชื่อ 2 ประเทศนี้ในบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งการเพิ่มชื่อดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่สหรัฐ มีการระบุชื่อประเทศรายใหม่  เป็นประเทศปั่นค่าเงิน

รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ยังระบุด้วยว่า ประเทศหรือดินแดน ใน “รายชื่อเฝ้าจับตา” ขณะนี้เพิ่มเป็น 10 ประเทศ หรือดินแดนแล้ว โดยมีไต้หวัน, อินเดีย และไทย ถูกบรรจุในรายชื่อนี้ ร่วมกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ทางด้านธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาตอบโต้รายงานฉบับดังกล่าว ยืนยันว่า ไม่ได้มีการปั่นค่าเงินแต่อย่างใด และว่า ธนาคารยังจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศต่อไป

ส่วนธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวว่า จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐ เพื่อให้มั่นใจถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นไปอย่างสมานฉันท์ และยุติธรรม

แถลงการณ์ของแบงก์ชาติเวียดนาม ย้ำด้วยว่า เวียดนามบริหารจัดการนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยวิธีการที่ควบคุมเงินเฟ้อ สร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจมหภาค และไม่ให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight