Business

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ พ.ย. ฟื้น อานิสงส์ ‘คนละครึ่ง ราคาสินค้าเกษตร’ ปรับเพิ่ม

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ พ.ย. ปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียง ม.ค. 63 ก่อนโควิดระบาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย อานิสงส์จาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐ ราคาสินค้าเกษตร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ และการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 41.0 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.5 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือน มกราคม 2563 ที่ 40.6 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด

Stocks ๒๐๑๒๑๗ 0

ทั้งนี้พบว่า ครัวเรือนมีมุมมองดีขึ้น ต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยหนุนให้ครัวเรือนมีอำนาจซื้อดีขึ้น อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง มีเป้าหมายใช้จ่ายเต็มจำนวน (3,000 บาท) โดยส่วนใหญ่ตั้งใจนำเงินไปใช้ซื้อ สินค้าอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีด้านอื่น ๆ พบว่า ครัวเรือนมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับระดับราคาสินค้า สอดคล้องกับ การหดตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ในเดือน พฤศจิกายน 2563 (-0.41%) เนื่องจากราคาอาหารสด ปรับเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของภัยแล้ง และน้ำท่วม

สำหรับดัชนีฯ ล่วงหน้า 3 เดือน ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก 40.1 ในเดือน ตุลาคม 2563 มาอยู่ที่ 41.1 ในเดือนนี้ บ่งชี้ว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับ ภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้า โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมหนี้ คาดว่าเกิดจากค่าใช้จ่าย ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล

กสิกร

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีความจำเป็น ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 โดยจะมีผู้ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมอีก 5 ล้านคน และเพิ่มวงเงินเป็น 3,500 บาท ระยะเวลาช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2564 ซึ่งจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจ และสร้างบรรยากาศจับจ่ายใช้สอย ได้จนถึงช่วงไตรมาสแรก ของปี 2564

​อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาเพิ่มเติมนั้น ยังเป็นเพียง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะสั้น ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายประการ ทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ของการระบาดอีกระลอก ของโควิด-19 แม้จะมีข่าวดีในเรื่องของวัคซีน แต่ยังมีความไม่แน่นอน ในเรื่องการนำมาใช้ อย่างแพร่หลาย

อีกทั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้นในต่างประเทศ ทำให้แนวโน้มการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยว ยังมีโอกาสเป็นไปได้น้อย ส่งผลให้ตลาดแรงงาน ยังมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเรื่องการเมือง อาจมีแนวโน้มยืดเยื้อ

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่า มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ มาจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ภายในประเทศ ควบคู่ไปกับแรงสนับสนุน จากมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ของภาครัฐ ที่ส่งผลให้อุปสงค์ ภายในประเทศ สามารถขยายตัว ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ ที่ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว ยังช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก และภาคการผลิตของไทย ประกอบกับแรงสนับสนุน จากการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในระยะต่อไป ยังมีปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ ที่ยังมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโลก และภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่ เงื่อนไขด้านการจ้างงาน ฐานะทางการเงินของครัวเรือน และภาคธุรกิจ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลก ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยง ที่น่าจับตามองในปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo