World News

‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ มาพร้อมความกังวล

แนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนหมู่บ้านกวาดาร์ ที่ประกอบอาชีพประมงมาแต่โบร่ำโบราณ ให้เป็นเมืองท่าเรือที่แสนจะคึกคักนั้น เกิดขึ้นมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2497 เมื่อปากีสถานมอบหมายให้หน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐ ดำเนินการสำรวจชายฝั่งทะเลของตัวเอง

ข้อสรุปที่ได้มาครั้งนั้น ระบุว่า กวาดาร์ ซึ่งอยู่ติดกับทะเลอาหรับ ถือเป็นสถานที่ในอุดมคติสำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ศักยภาพดังกล่าวของกวาดาร์ถูกละเลยมานานหลายสิบปี แต่ในปัจจุบัน หมู่บ้านแห่งนี้ กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของแผนการอันยิ่งใหญ่ ที่รู้จักกันในชื่อ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” หรือ ซีพีอีซี

 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' การพัฒนาที่มาพร้อมความกังวล

จีนได้ให้คำมั่นที่จะใช้จ่ายเงินราว 6.3 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนปากีสถานในการสร้างโรงไฟฟ้า ท่าเรือ ทางด่วน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งจัดวางตำแหน่งเมืองนี้ไว้เป็นหนึ่งในเสาหลัก ของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

เป้าหมายหลักของจีน ในโครงการนี้ คือ เชื่อมพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเข้ากับท่าเรือกวาดาร์ ซึ่งจะช่วยให้เรือบรรทุกน้ำมัน และสินค้าอื่นๆ จากอ่าวเปอร์เซีย สามารถเลี่ยงภาวะคอขวด บริเวณช่องแคบมะละกา และยังย่นระยะทางได้หลายพันกิโลเมตร เมื่อเทียบกับเส้นทางเดินเรือปัจจุบัน ที่มีกองทัพเรือต่างชาติลาดตระเวนอยู่เป็นประจำ

รายงานของเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว และเดอะ แบงเกอร์ ระบุว่า สำหรับประเทศต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว โครงการเส้นทางสายไหมใหม่นี้ให้คำมั่นถึงการลงทุนในทางรถไฟ ถนน ท่าเรือ และสาธารณูปโภคอื่นๆ

อย่างไรก็ดี รายงานค้นพบว่า ประเทศที่เข้าร่วมในบีอาร์ไอ ยังมีความกังวลอยู่ในหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่ การที่คนงานท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง ไปจนถึงการที่ธนาคารต่างๆ มีหนี้ค้างชำระที่จัดการไม่ได้

Map 07 01

รายงานยังได้ตรวจสอบถึงสถานะของโครงการบีอาร์ไอที่เกิดขึ้นใน 8 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ศรีลังกา คาซัคสถาน บังกลาเทศ อินเดีย โปแลนด์ ลาว และปากีสถาน ซึ่งได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้

โครงการล่าช้า

หลังจากที่เริ่มต้นการก่อสร้าง บางโครงการเกิดความล่าช้าอย่างมาก โดยในอินโดนีเซีย การก่อสร้างทางรถไฟมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ล้าช้ากว่ากำหนด และค่าใช้จ่ายบานปลายมากขึ้น

ปัญหาเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างในคาซัคสถาน และบังกลาเทศ

หนี้สะสม

นอกจากปากีสถานแล้ว ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ค้างชำระต่อจีน ในศรีลังกา มัลดีฟ และลาว

กังวลอธิปไตย

การที่จีนเข้าครอบครองกิจการท่าเรือที่มีปัญหาในศรีลังกา ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับการสูญเสียอธิปไตย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านศรีลังกา อย่าง อินเดีย ก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับในโครงการบีอาร์ไอ โดยระบุว่า โครงการต่างๆ ของจีน ในปากีสถาน ประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย เป็นการละเมิดอธิปไตย

มูชตัค ข่าน นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางปากีสถาน ยอมรับว่า หนี้ของปากีสถานที่ติดจีนอยู่นั้น เพิ่มมากขึ้น แต่ชี้ว่า จีนปล่อยให้ปากีสถานล้มละลายไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์ของปากีสถาน ในฐานะกันชนต่ออินเดีย ชาติคู่แข่งของจีนในภูมิภาคนี้

“ความสนใจแรกของจีนที่มีต่อปากีสถาน คือ เรื่องภูมิศาสตร์การเมือง มากกว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น สำหรับจีนแล้ว การจ่ายหนี้จำนวนมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงมา เพราะต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจกับปากีสถานเอาไว้”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight