COVID-19

เตือน! ความไม่เท่าเทียม ‘วัคซีนโควิด’ ระเบิดเวลา ที่รอวันปะทุรอบใหม่

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วอย่างน้อย 1.6 ล้านราย ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก และสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบสาธารณสุข แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ “วัคซีนโควิด” ยังเป็นหลักฐานแสดงถึงความไม่เท่าเทียม และช่องว่าง ทั้งในเรื่องความหวัง โอกาส และความอยู่รอดของผู้คนในประเทศที่ร่ำรวย กับในประเทศที่ยากจนด้วย

ในขณะที่ประเทศก้าวหน้า อย่าง สหรัฐ อังกฤษ และแคนาดา เริ่มแจกจ่าย และฉีด วัคซีนโควิด ให้กับประชาชนของตน ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาคงต้องรออีกนานหากโอกาสที่ว่านี้จะเกิดขึ้นจริง

วัคซีนโควิด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขพากันออกมาเตือนว่า ช่องว่างในเรื่องวัคซีนนี้ จะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดใหญ่ ในระดับโลก ทำได้ยากขึ้น ทั้งยังอาจทำให้ประเทศที่เข้าไม่ถึงวัคซีน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำด้วย

นายอาร์นอต เบอร์เนิต ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพระดับโลกของเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ชี้ให้เห็นว่า ในบรรดา “วัคซีนป้องกันโควิด-19” จำนวน 12,000 ล้านโดส ที่คาดว่า บริษัทเภสัชกรรมทั่วโลก จะผลิตได้ในปีหน้านั้น กลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ได้สำรองซื้อไปแล้ว ราว 9,000 ล้านโดส

ขณะที่ COVAX ซึ่งเป็นแผนงานความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพื่อการเข้าถึงวัคซีน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดตั้งขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือ จากองค์กรนอกภาครัฐอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับความสนับสนุนด้านการเงิน อย่างเพียงพอ เพราะยังขาดเงินบริจาคอยู่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ และสามารถสำรองวัคซีน สำหรับประเทศที่ยากจนได้เพียงแค่ 10% จากเป้าหมาย ที่ตั้งไว้สำหรับปี 2564 ที่ 2,000  ล้านโดส

เหตุผลหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ ในขณะที่ วัคซีน ซึ่งผ่านการทดลอง และสามารถผลิตได้ เพื่อสนองความต้องการ ยังมีจำนวนจำกัด กลุ่มประเทศร่ำรวย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ใช้เงินภาษี เร่งสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา วัคซีน ถูกกดดันให้ต้องจัดหาวัคซีน ให้กับพลเมืองในประเทศของตนก่อน และขณะที่คำตอบ เกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาว ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บางประเทศ ได้ตัดสินใจสั่งซื้อ วัคซีน หลายชนิด เพื่อให้แน่ใจว่า ประชาชนของตน จะมีโอกาสได้วัคซีนที่ใช้ได้ผล

วัคซีนโควิด

อย่างเช่น แคนาดาที่มีประชากรราว 38 ล้านคน ได้สั่งซื้อ วัคซีน ชนิดต่างๆ ไปใช้รวมแล้วเกือบ 200 ล้านโดส ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องการอนุมัติวัคซีนและปัญหาท้าทายเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบเพื่อการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา ก็จะเป็นเหตุผลสำคัญทำให้กลุ่มประเทศยากจน ต้องใช้เวลารอวัคซีนนานขึ้น

ปัจจุบัน นอกจากวัคซีนของไฟเซอร์ -ไบโอเอ็นเทค ที่ผ่านการอนุมัติในหลายประเทศ กับของ โมเดอร์นา ที่คาดว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) จะให้การอนุมัติในไม่ช้าแล้ว ยังไม่มีวัคซีนอื่นใด ที่ผ่านการอนุมัติขององค์กรด้านสุขภาพชั้นนำในประเทศใดทั้งสิ้น

ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 เดือน สำหรับการแจกจ่ายวัคซีนให้ถึงประชากรส่วนใหญ่ แต่ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีปัจจัย และอุปสรรคเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาร่วมด้วยนั้น จะยิ่งทำให้เวลาของการรองเนิ่นนานมากขึ้นอีก

การที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลมากกว่า ทำให้ประเทศรายได้ระดับปานกลางบางประเทศ อย่างเช่น อินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัคซีนให้กับประเทศตะวันตก ตั้งเป้าว่า จะผลิตวัคซีนอย่างน้อย 300 ล้านโดส สำหรับตลาดในประเทศของตน แต่ก็คาดว่าอินเดียคงไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ

ความหวังที่ COVAX จะเป็นที่พึ่งพาได้ ซึ่งดูริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ นั้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย พากันมองหาทางเลือกอื่น

วัคซีนโควิด

ตัวอย่างเช่น พาเลา ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ในมหาสมุทรแปซิฟิค ได้ตัดสินใจที่จะถอนตัวออกจากโครงการ COVAX และพยายามขอรับบริจาควัคซีนจากสหรัฐ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง มาเลเซีย เปรู และบังกลาเทศ ก็กำลังมองหาแผนสำรอง ด้วยการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยารายอื่นเช่นกัน

ขณะที่ แอฟริกาใต้ กับอินเดีย ได้ขอให้ WHO ยกเว้นกฎเกณฑ์บางอย่าง เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา สามารถผลิตวัคซีนและยารักษาโควิด-19 ได้เอง แต่ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ไม่ทัดเทียมกันที่ว่านี้

แอนนา แมริออตส์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสุขภาพของ OXFAM ได้เตือนว่าช่องว่างที่ว่านี้จะยิ่งทำให้การระบาดใหญ่ดังกล่าวยืดเยื้อออกไปนานขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคนอื่น ก็เตือนเช่นกันว่าการขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอ โดยผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นผลให้มีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ หลงเหลืออยู่ในหลายจุดของโลก และรอเวลาที่จะกลับมาระบาดใหม่ได้อีกทุกเวลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo