Business

อึ้งเป็นแถบ! เครื่องดื่มผสมวิตามินซี 8 ยี่ห้อดัง ตรวจ ‘ไม่เจอ’ วิตามินซี

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี 8 ยี่ห้อดัง ไม่มีวิตามินซี “ฉลาดซื้อ” เผยผลตรวจ 47 ตัวอย่าง ที่เหลือ มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงฉลาก อาจารย์ม.เกษตร ชี้สลายเป็นสารอื่น

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซี ในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบว่า มีเครื่องดื่มวิตามนซี 8 ตัวอย่าง ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี

เครื่องดื่มผสมวิตามินซี

สำหรับ ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่

ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)

  • นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021)
  • มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021)
  • มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021)
  • เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. (วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021)
  • เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.(วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021)
  • มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. (วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21)
  • ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. (วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)

ไม่เจอ

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซี กับคำกล่าวอ้างบนฉลาก ที่ระบุว่ มีปริมาณวิตามินซี มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 พบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรง ตามที่แจ้งบนฉลาก โดยมีทั้งปริมาณมาก และน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก

ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes) หรือ ปริมาณสารอาหาร ที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทย อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่าย หากสัมผัสกับแสง หรือความร้อน

ดังนั้น แหล่งอาหารสำคัญ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภค เพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อน

วิตามิน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว ว่า วิตามินซี สามารถสลายตัวได้ง่ายมาก และมีความไวต่อออกซิเจน แต่วิตามินซีจะกลายไปเป็นสารอื่นแทนคือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี โดยระบุว่า

“ตามที่ เคยบอกในกระทู้ก่อนนะครับว่า วิตามินซี สลายตัวง่ายมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (มีความ ไวต่อปฎิกิริยา Oxidation) อย่าลืมว่าในน้ำดื่มมีออกซิเจนเพียบ นอกจากนี้ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น

เรื่องความร้อน ขวดน้ำวิตามินแค่อัดแพ๊คลงลัง ใส่สิบล้อ ขนส่ง ไม่ถึง 5 ชั่วโมง วิตามินซีก็ลดลงอย่างมาก แต่วิตามินซีจะกลายไปเป็นสารอื่นแทนคือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี (สสารไม่สูญหายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์ม)

ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังคืออะไร สารวิตามินซีเหล่านี้ ในน้ำแต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์ และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo