World News

แนวโน้มสดใส ‘ฟิตช์ เรตติงส์’ เพิ่มคาดการณ์ ‘GDP จีน’ ปี 2564 เป็นเติบโต 8%

เศรษฐกิจแนวโน้มสดใส “ฟิตส์ เรตติงส์” ปรับเพิ่มคาดการณ์ “GDP จีน” ปี 2564 เป็นขยายตัว 8% ปัจจัยหนุนจากการบริโภคในประเทศและวัคซีนโควิด-19

รายงานจากฟิตช์ เรตติงส์ (Fitch Ratings) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ จีน ในปี 2564 จาก 7.7% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนกันยายน 2563 เป็น 8%

“ตัวเลขนี้สูงกว่าการคาดการณ์ศักยภาพการเติบโตระยะยาวของจีนซึ่งอยู่ที่ราว 5.5% อย่างมาก แต่มีความเป็นไปได้เนื่องจากตัวเลขในปี 2563 อยู่ในระดับต่ำ” ไบรอัน คูลตัน และพาเวล โบโรว์สกี นักวิเคราะห์ของฟิตช์ฯ ระบุในรายงานที่ถูกเผยแพร่

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า ตัวเลขล่าสุดอ้างอิงจากอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศที่พุ่งสูง และความคาดหวังจากการแจกจ่ายวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั่วโลก

GDP จีน 2564

ข้อมูลชี้ว่าภาคการบริโภคของจีนฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจัดเลี้ยงและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวทางสังคม ขณะสภาพเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะพัฒนาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เมื่อมีประชาชนได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้น

ทั้งนี้ ฟิตช์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีน จะขยายตัว 2.3% ในปี 2563 หลังหดตัว 6.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ฟิตช์ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3.7% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ประเมินการหดตัวไว้ที่ 4.4% และคาดการณ์ว่า GDP โลกจะขยายตัว 5.3% ในปี 2564

 

ฟอร์จูนชี้ “เศรษฐกิจจีน” น่าประทับใจ ก้าวนำการค้าโลก 

ด้านนิตยสารฟอร์จูน (Fortune) รายงานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า จีนได้กลายเป็นผู้นำของวงการการค้าโลก แม้เผชิญภาวะชะงักงันจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยสถิติทางการค้าบ่งชี้ว่า จีนฟื้นตัวจากโรคระบาด

โดยสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีน เปิดเผยว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบปีต่อปี การส่งออกดีดตัว 14.%9 เมื่อเทียบปีต่อปี ในแง่สกุลเงินหยวน

บทความของฟอร์จูนระบุว่า “เศรษฐกิจจีน อยู่ระหว่างการฟื้นตัวที่น่าประทับใจ” จากวิกฤตสาธารณสุขระดับโลก โดยการเติบโตของ GDP ประจำไตรมาส 3 อยู่ที่เกือบ 5%

ขณะเดียวกันการส่งออกที่เฟื่องฟูของจีนยังสะท้อน “ผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ในกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลิตและส่งออกน้อยลง นำไปสู่การพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”

ฟอร์จูนเผยว่า สหรัฐยังคงขาดดุลทางการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น ขณะจีนนำเข้าสินค้าอเมริกันมากกว่าแต่ก่อน

 

ลงทุนอสังหาฯ 11 เดือนแรก โต 6.8%

ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ยังเปิดเผยว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วง 11 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งสูงขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกที่เติบโต 6.3%

ยอดจำหน่ายที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ช่วง 11 เดือนแรกในแง่พื้นที่ใช้สอยรวมอยู่ที่ 1.51 พันล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.3% จากปีก่อน ส่วนในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 14.9 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 68.39 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกที่เติบโต 5.8%

fig 05 08 2020 10 14 53

เมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค. 63) สำนักงานฯ เผยข้อมูลที่ชี้ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนในเดือนพฤศจิกายนยังคงมีเสถียรภาพ โดยราคาบ้านตามเมืองใหญ่ขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน

ราคาบ้านใหม่ใน 4 เมืองหลัก (First-tier city) อันได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ซึ่งหดลง 0.1 จุดจากเดือนตุลาคม ส่วนราคาบ้านใหม่ในเมืองรองระดับ 2 จำนวน 31 แห่ง และเมืองรองระดับ 3 จำนวน 35 แห่ง ต่างปรับตัวขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน

รายงานการปฏิบัติงานของรัฐบาลปี 2563 ระบุว่าจีนได้ย้ำหลักการที่ว่า “บ้านมีไว้เพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช่เก็งกำไร” ขณะเดินหน้าควบคุมการเก็งกำไรราคาที่อยู่อาศัยต่อไป และมีแผนจะดำเนินนโยบายเฉพาะเมืองในภาคส่วนนี้

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo