Economics

นายกฯตรวจความพร้อมสถานีกลางบางซื่อ เทียบชั้น’ปารีส-หอไอเฟล’

นายกฯ ระบุสถานีกลางบางซื่อ “คืออนาคต” เทียบ “นครปารีส-หอไอเฟล” เตรียมเปิดทดสอบเดินรถต้นปี พร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบปลายปีหน้า

สถานีกลางบางซื่อ

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อ และทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นี่คืออนาคต เทียบได้กับนครปารีสและหอไอเฟลเลยทีเดียว และนี่คือสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น”

รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของประเทศ โดยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขณะเดียวกันจะแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบ เพราะจะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกทม.สู่ปริมณฑลและเชื่อมโยงไปทุกภูมิภาคของประเทศ

สถานีกลางบางซื่อ

ขณะนี้ การก่อสร้างมีความคืบหน้า 89.10% จะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเดือนพฤศจิกายน 2564

นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้ทดลองเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ – สถานีรังสิต โดยสายสีแดงมีระยะทางรวม 26.3 กิโลเมตร แบ่งเป็น 10 สถานี ก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากบางซื่อถึงดอนเมือง ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับเป็นระดับพื้นจากสถานีดอนเมือง ถึงสถานีรังสิต ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานีกลางบางซื่อและโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิตว่า ช่วยเติมเต็มการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมแนะให้มีการจัดเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับที่จอดรถให้เพียงพอที่จะเปิดให้บริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า เพื่อรองรับสำหรับประชาชนที่มาใช้บริการทำให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์และเข้าถึงบริการขนส่งคมนาคมทางรางอย่างทั่วถึง

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับนานาชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ช่วยยกระดับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด

ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศและโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่ง และโลจิสติกส์

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

Avatar photo