Economics

กางกระเป๋าเงินรอ! ‘ธ.ก.ส.’ ดีเดย์จ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนาวันนี้

ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบ 3 อีก 2.4 ล้านราย วงเงินรวม 20,400 ล้านบาท ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ กางกระเป๋าเงินรอเลย!

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบ 3 ที่แจ้งรอบการเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 อีก 2.4 ล้านราย วงเงินรวม 20,400 ล้านบาท ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ หลังจากที่ผ่านมาได้จ่ายเงินประกันรายได้รอบ 1 – 2 แล้ว รวม 1.52 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเกษตร 1.42 ล้านราย

ส่วนที่เหลือ ธ.ก.ส. จะทยอยจ่ายตามรอบเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรแจ้งไว้ จนครบ 4.56 ล้านราย วงเงินรวม 4.57 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะครบในช่วงเดือน พฤษภาคม 2564 โดยเกษตรกรจะได้รับเงินประกันรายได้สูงสุดไม่เกิน 45,000 บาท ต่อครัวเรือน

นายกษาปณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2563 ราคาข้าวตกต่ำเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กระทบระบบขนส่ง ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ในปี 2562 ราคาขายอยู่ที่ตันละ 18,000 บาท ไม่ต้องชดเชยเงินประกัน แต่ปี 2563 ราคาอ้างอิงอยู่ที่ตันละ 12,100 บาท ราคาประกันที่ตันละ 15,000 บาท ต้องชดเชยถึงตันละ 2,899 บาท ทำให้งบประกันรายได้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ครั้งแรก 1.8 หมื่นล้านบาทไม่เพียงพอ

ธ.ก.ส.

ส่วนข้าวประเภทอื่น ก็ราคาตกต่ำทั้งหมด ทำให้ต้องจ่ายเงินประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดย

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ นอกพื้นที่ ราคาอ้างอิง อยู่ที่ตันละ 11,951 บาท ราคาประกันที่ตันละ 14,000 บาท ต้องชดเชยตันละ 2,048 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคาอ้างอิง อยู่ที่ตันละ 9,122 บาท ราคาประกันที่ตันละ 10,000 บาท ต้องชดเชยตันละ 877 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาอ้างอิง อยู่ที่ตันละ 9,960 บาท ราคาประกันที่ตันละ 11,000 บาท ต้องชดเชยตันละ 1,039 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว ราคาอ้างอิง อยู่ที่ตันละ 11,066 บาท ราคาประกันที่ตันละ 12,000 บาท ต้องชดเชยตันละ 933 บาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินรวม 28,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 ไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน โดย ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2563 จ่ายไปแล้ว 22,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.89 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายได้ครบ 4.56 ล้านครัวเรือน ในช่วงก่อนปีใหม่นี้

นายกษาปณ์ กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) วงเงินสินเชื่อ 15,200 ล้านบาท เพื่อชะลอข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินกู้เกษตรกร รายละไม่เกิน 300,000บาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยเกษตรกรได้ 200,000ราย เฉลี่ยจำนำยุ้งฉาง 6 – 8 ตันต่อราย ได้รับสินเชื่อสูงสุด 12,000 บาทต่อราย

ทั้งนี้ จะเริ่มเข้าตรวจสอบยุ้งฉางและอนุมัติสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้ รวม 3 มาตรการ เกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนกว่า 67,000 หมื่นบาทต่อราย ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในตลาด รวบรวมและรับซื้อข้าวจากสมาชิก ถึงวันที่ 30 กันวายน 2564 ล่าสุดจ่ายเงินแล้ว 900 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการอื่น เช่น จ่ายเงินเยียวยาผู้ปลูกลำไย วงเงิน 3,440 ล้านบาท ล่าสุดจ่ายแล้ว 1.99 แสนราย วงเงิน 2,826 ล้านบาท โครงการประกันราคาข้าวโพด 4.5 แสนราย วงเงิน 1,812 ล้านบาท จ่ายแล้ว 1.3 แสนราย วงเงิน 637 ล้านบาท และโครงการประกันราคามันสำปะหลัง 9,570 ล้านบาท ครัวเรือนละ 100 ตัน จ่ายแล้ว 500 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo