Business

ครม. รับทราบสหรัฐระงับ ‘GSP’ สินค้าไทย 231 รายการ เริ่ม 30 ธ.ค. นี้

ครม. รับทราบ สหรัฐ ระงับ “GSP” สินค้าไทย 231 รายการ มีผลวันที่ 30 ธ.ค. 63 ส่งผลให้ต้องเสียภาษี 3-4% คิดเป็นต้นทุน 600 ล้านบาท

วันนี้ (8 ธ.ค. 63) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบเรื่อง สหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) สินค้าไทย 231 รายการ ด้วยเหตุผลประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐ มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

สหรัฐ GSP
1. การประกาศระงับสิทธิ GSP สหรัฐ ได้มีการประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย จำนวน 573 รายการ จากผลการประเมินคุณสมบัติประเทศไทยในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ประธานาธิบดีสหรัฐ มีประกาศแจ้งผลการประเมินคุณสมบัติของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ของสหรัฐ ในการพิจารณาแบบรายประเทศ โดยสหรัฐ ได้ประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย รวม 231 รายการ ด้วยเหตุผลในประเด็นการเปิดตลาดสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไป
2. สาเหตุของการประกาศระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ ตามข้อ 1 เนื่องจากไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ในระบบการเลี้ยง โดยสหรัฐเรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ค่าการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits:MRLs) ของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex) ในการพิจารณาการประเมินความเสี่ยงสำหรับการเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสหรัฐ
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยนำโดยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายพิศาล พงศาพิชญ์) ได้เข้าร่วมการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ GSP ณ สำนักงาน United States Trade Representative (USTR) กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการพิจารณาเปิดตลาดให้กับสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์นำเข้าจากสหรัฐ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการเลี้ยง สรุปข้อชี้แจงด้ดังนี้

  • ไทยได้หารือและทำงานร่วมกับฝ่ายสหรัฐ มาอย่างต่อเนื่องในกระบวนการประเมินความเสี่ยงจากการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินขั้นตอนที่ 4 จากทั้งหมด 9 ขั้นตอน คือ หน่วยงานสัตวแพทย์ของประเทศผู้ส่งออกจัดส่งแบบสอบถามให้กรมปศุสัตว์พิจารณาและให้ความคิดเห็น
  • ไทยยังไม่รับรองค่าการตกค้างสูงสุดตามมาตรฐานที่ Codex ให้การรับรอง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยจะบริโภคทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในสุกร ซึ่งเป็นส่วนที่มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในระดับสูง ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงของไทยจึงครอบคลุมทุกชิ้นส่วนเนื้อเยื่อสุกร ในขณะที่มาตรฐานของ Codex ครอบคลุมเพียง 4 เนื้อเยื่อ (กล้ามเนื้อ ไขมัน ตับ และไต)
  • ไทยได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการให้ความสำคัญเรื่องการปกป้องความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคและยึดหลักการว่ามาตรฐานที่ใช้กับสินค้านำเข้าจะต้องสอดคล้องกับสินค้าภายในประเทศ หากไทยเปิดตลาดให้สินค้าสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากต่างประเทศในขณะที่ยังห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในประเทศจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศ

960x0 1

3.ผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิGSP

สินค้า 231 รายการ ที่สหรัฐประกาศระงับสิทธิ GSP มีการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP จริงเพียง 157 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิฯ 601.50 ล้านดอลลาร์ โดยการระงับสิทธิดังกล่าวมีผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐ จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) เฉลี่ย 3-4% จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นเป็น 0% คิดเป็นมูลค่าต้นทุนภาษีที่ต้องเสียเพิ่มประมาณ 18.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท

โดยรายการสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้พิจารณาจาก 2 มิติ คือ 1) สัดส่วนการใช้สิทธิ GSP และ 2) ระดับอัตราภาษี MFN ที่ต้องชำระ ซึ่งรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบปานกลาง-สูง เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กรอบและโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมเรซิน เกลือฟลูออรีน และเครื่องนอนที่ทำจากยางหรือพลาสติก

ทั้งนี้ จากการประกาศระงับสิทธิฯ สินค้าทั้ง 231 รายการดังกล่าว ทำให้ไทยมีสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ คงเหลือ 2,660 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริง 645 รายการ มูลค่าการใช้สิทธิฯ ประมาณ 2,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. มาตรการรองรับผลกระทบ

  • การหารือกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อหาทางออกร่วมกันในทุกช่องทาง เช่น การประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบ Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) การหารือระหว่าง USTR กับผู้แทนฝ่ายไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-Commerce เข้าถึงผู้บริโภคในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่โดยตรง
  • การประสานและหารือกับภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลกระทบที่ภาคเอกชนอาจจะได้รับจากการถูกระงับสิทธิอย่างใกล้ชิด
  • การจัดทำคลินิกให้คำปรึกษาและจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัว รวมถึงให้คำปรึกษาผ่านช่องทางไลน์แอพพลิเคชั่นชื่อบัญชี “@gsp_helper

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo