Business

ข่าวดี! พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย 340 ชนิด เพิ่มมูลค่า ใช้ในเครื่องสำอาง

พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย ที่ใช้ทางเครื่องสำอาง อย. จับมือ 3 หน่วยงาน สร้างศูนย์กลางเก็บข้อมูลครบวงจร เพื่อส่งเสริม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการ พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ สมุนไพร สำหรับใช้ภายนอก” โดยจับมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย

โครงการความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการร่วมกัน จัดทำฐานข้อมูลสมุนไพร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูล แบบครบวงจรของประเทศไทย ก่อประโยชน์ในการส่งเสริม และสนับสนุนการเพิ่มมูลค่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับใช้ภายนอก โดยการใช้สารสกัดสมุนไพร เป็นสารออกฤทธิ์

นอกจากนี้ ยังเพื่อสนับสนุน การพัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพร ด้านประโยชน์และสรรพคุณ เป็นการสร้างองค์ความรู้ในผลิตเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับใช้ภายนอก ที่มีคุณภาพปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล  รวมทั้งส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ ในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรไทย ที่ใช้ทางเครื่องสําอาง หรือ THAI MEDICINAL PLANTS FOR COSMETICS DATABASE ประกอบไปด้วยสมุนไพร 340 ชนิด ประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้

พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย

  • เอกลักษณ์ต่าง ๆ ของ สมุนไพร
  • ส่วนที่ใช้ และการนำไปใช้ทางเครื่องสำอาง
  • สารสำคัญที่พบในสมุนไพร
  • การสกัด แยก และตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารสำคัญ
  • การวิเคราะห์ปริมาณสาร
  • ข้อกำหนดคุณภาพตามเภสัชตำรับ
  • ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ เพื่อการศึกษาทางเภสัชวิทยา ทางคลินิก หรือทางพิษวิทยา

จากฐานข้อมูลดังกล่าว ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจ สามารถสืบค้นข้อมูล ของสมุนไพรแต่ละตัวได้ โดยอาจต่อยอดพัฒนา เป็นเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ใช้ภายนอก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ ในประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

พัฒนาฐานข้อมูล สมุนไพรไทย

ขณะเดียวกัน อย. จะร่วมพัฒนา และสนับสนุนฐานข้อมูล พืชสมุนไพร ด้านสรรพคุณ และหน้าที่สารออกฤทธิ์สำคัญ (Functional & health claims) ของสมุนไพร สำหรับใช้เป็นข้อกำหนด ในการตรวจสอบเครื่องสำอาง  และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับใช้ภายนอก รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการพัฒนาสมุนไพร สู่นวัตกรรมด้านเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ใช้ภายนอก อย่างยั่งยืน”นายแพทย์ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าทางการตลาดสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหารเสริมกว่า 80,000 ล้านบาท, กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท

shutterstock 682212448

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ นิยมใช้ สมุนไพร เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า สมุนไพร มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริม การใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล ใช้สมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจุบัน และมีการนำ สมุนไพร มาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ยังยังมีมติเห็นชอบให้ยกระดับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการเกษตรวัตถุดิบสมุนไพร ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร

ประกอบด้วย จังหวัด นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี และ3.กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงามประกอบด้วยเชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo