Politics

‘นายกฯ’ ลุยตรวจเยี่ยมระบบขนส่งสาธารณะ ‘ล้อ ราง เรือ’

ประยุทธ์ 43

“นายกรัฐมนตรี” ลุยตรวจเยี่ยมการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะ “ล้อ ราง เรือ” เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบก ราง และน้ำ แบบไร้รอยต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตรวจเยี่ยมการพัฒนาและยกระดับระบบบริการขนส่งสาธารณะ โดยเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ผ่านสถานีรถไฟฟ้า 3 สถานี เริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าสีลม ผ่านสถานีรถไฟฟ้าสามย่าน ไปยังปลายทางสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ก่อนเดินทางโดยเรือจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังท่าเรือเทวราชกุญชร (เทเวศร์) ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

ประยุทธ์ 35 เรือ

โดยการเดินทางดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางรางและทางน้ำ แบบไร้รอยต่อในรูปแบบการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” เพื่อมุ่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวทั้งระบบ การแก้ไขปัญหาการจราจร และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว และรื้อฟื้นวิถีชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำลำคลองอีกด้วย

ประยุทธ์ 33

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) โดยได้ใช้บัตรแมงมุมประเภทบุคคลทั่วไป สำหรับเดินทางโดยรถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้า MRT) จากสถานีรถไฟฟ้าสีลม ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง เพื่อตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง และการเดินทางโดยรถไฟ (รถไฟรางคู่) ของประชาชน ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวสามารถเชื่อต่อการเดินทางด้วยบัตรเดียว ทั้งทางรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ รถโดยสารประจำทาง เรือ และรถไฟ โดยปัจจุบันสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และจะมีการขยายให้ครอบคลุมระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวต่อไป

ประยุทธ์ 38 รถไฟฟ้า

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการอนาคตในการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งระบบราง เรือ เครื่องบิน (อากาศ) และทางรถ (ถนน) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า – รถไฟ – เรือ โดยโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นการพัฒนาการเดินทางและขนส่งที่มีประสิทธิภาพด้วยการเดินทางอย่างไร้รอยต่อให้คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน หรือ One Transport for All ซึ่งนอกจากจะพัฒนารถไฟฟ้าเส้นทางต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนแม่บท 13 เส้นทางแล้ว สิ่งสำคัญคือมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งที่มีอยู่ทั้งเรือ รถโดยสารประจำทาง โดยได้มีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) การเชื่อมต่อทุกการเดินทางด้วยบัตรเดียว (บัตรแมงมุม ประเภทนักเรียน/นักศึกษา บุคคลทั่วไป และผู้สูงอายุ) และ 2) การพัฒนาทางกายภาพของสถานีเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีจุดเชื่อมต่อ/สถานีร่วม 10 แห่ง (สถานีรถไฟฟ้า 4 สาย) และในอนาคตเมื่อมีรถไฟฟ้าครบทั้งหมดจะมีจุดเชื่อมต่อ/สถานีร่วม เพิ่มขึ้น 38 แห่ง รวมทั้งมีจุดเปลี่ยนถ่ายการขนส่งขนสาธารณะทั้งรถ ราง และเรือ อีก 16 แห่ง รวมทั้งสิ้นจะมีจุดเชื่อมต่อ 64 แห่ง ซึ่งเมื่อดำเนินการได้เต็มรูปแบบทั้งระบบจะสามารถทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเดินทางได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และประหยัด

ประยุทธ์ 42

พร้อมชมแท่นศิลาฤกษ์ที่ตั้งอยู่ภายในสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง รวมทั้งรับฟังบรรยายสรุปประวัติการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ภายในสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง จากนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (The Metropolitan Rapid Transit :MRT) หรือสายสีน้ำเงิน เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวเข้าถนนรัชดาภิเษก ผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนอโศก สี่แยกพระราม 9 สี่แยกสุทธิสาร เลี้ยวเข้าถนนลาดพร้าวที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ผ่านส่วนจตุจักร เข้าถนนกำแพงเพชร สิ้นสุที่สถานีรถบางซื่อ รวมทั้งสิ้น 18 สถานี

ประยุทธ์ 46

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ทักทายประชาชนที่มารอขึ้นรถไฟไปต่างจังหวัด ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนเดินทางโดยเรือจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังท่าเรือเทวราชกุญชร (เทเวศร์) เพื่อตรวจการพัฒนาจุดร่วมตรวจการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ของกรุงเทพมหานคร ตามโครงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมจากท่าเรือรถไฟหัวลำโพง ไปยังท่าเรือเทวราชกุญชร และตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางจากคลองผดุงกรุงเกษมสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ณ ท่าเรือเทเวศร์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมรับฟังการบรรยายเชิงประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม

 

ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK