Social

‘หมึกบลูริง’ พิษร้ายกว่า ‘ไซยาไนด์’ 1,200 เท่า หมอเตือน ห้ามจับ-ห้ามทาน

หมึกบลูริง หมอเตือนภัย ห้ามจับ ห้ามทาน พิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า รุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า พิษทนความร้อน อันตรายถึงตาย

จากกรณีข่าวแพร่โลกออนไลน์ พบร้านขายปลาหมึกย่าง นำ หมึกบลูริง หรือ หมึกสายวงน้ำเงิน (Blue-ringed octopus) มาจำหน่าย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในวงกว้าง โดยเฉพาะการเตือนถึงอันตราย จากพิษของหมึกบลูริง ที่อาจทำให้ถึงเสียชีวิตได้

หมึกบลูริง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทน อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จำพวกหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัย มีขนาดลำตัว ประมาณ 4-5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร

หมึกสายวงน้ำเงิน มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไป ตรงที่มีลวดลายเป็น วงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลำตัว และหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลำตัว ที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาล อย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้ สามารถเรืองแสงได้ เมื่อถูกคุกคาม โดยทั่วโลก พบหมึกสายวงน้ำเงินทั้งหมด ประมาณ 4 ชนิด

สำหรับในประเทศไทย มีรายงานการพบหมึกสายวงน้ำเงิน สกุล Hapalochlaena maculosa ในน่านน้ำไทย ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย

ทั้งนี้ หมึกสายวงน้ำเงิน มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมาก ผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำ ที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

สำหรับสารพิษของหมึกสายวงน้ำเงิน เรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็น พิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า โดย เตโตรโดท็อกซิน ที่พบทั้งใน หมึกสายวงน้ำเงิน และปลาปักเป้า ไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัว ของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้

มีการศึกษาพบว่า พิษนี้ สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp., Photobacterium phosphorium ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา “ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2547”

สารพิษเตโตรโดท็อกซิน มีผลต่อระบบประสาท โดยปริมาณที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิต คือ ประมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น พิษนี้ยังทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงไม่สามารถทำลายพิษได้ ด้วยการใช้ความร้อนปกติ ในการปรุงอาหาร

หมึก1

นอกจากนี้ยังไม่มียาแก้พิษ ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซิน มีอัตราตาย สูงถึง 50-60% และในกรณีที่ถูกหมึกสายวงน้ำเงินกัด ซึ่งพิษที่เกิดจากกัดจะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด

อาการของผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัด จะเริ่มจาก อาการชา บริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาชาบริเวณใบหน้า แขนขา และเป็นตะคริวในที่สุด น้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานผิดปกติ อ่อนแรง

ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก ระบบประสาทส่วนกลาง จะไม่ทำงาน หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลม และหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถ นำอากาศเข้าสู่ปอดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง แต่ก็มีรายงานการเสียชีวิตเร็วที่สุดหลังจากได้รับพิษไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่า จะขาดอากาศนานเกินไป จนทำให้สมองตาย

หมึก

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับพิษจาก หมึกสายวงน้ำเงินกัด ควรทำการปฐมพยาบาลในทันที หลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัด และตรึงอวัยวะส่วนนั้น ไม่ให้เคลื่อนไหว เพื่อทำให้พิษไม่แพร่กระจาย เข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลาย ไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขน หรือขา ให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้

กรณีถูกกัดบริเวณลำตัว หากพันได้ให้พันด้วย แต่อย่าให้แน่น จนทำให้หายใจลำบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัด เพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้น เทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

“พิษที่ร้ายแรง จึงห้ามนำมารับประทานเด็ดขาด ถึงแม้จะนำไปทำให้สุกด้วยความร้อน ปิ้ง ย่าง ทอดหรือต้มก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และห้ามจับหรือสัมผัสเพราะหากถูกกัดก็อาจได้รับพิษเช่นกัน”นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo