Economics

สกพอ. จัดสัมมนาให้ความรู้ ‘บันฑิตอาสา’ โยงประโยชน์ ‘อีซีซี’ สู่ชุมชน

 

สกพอ. เปิดเวทีสัมมนา ให้ความรู้ “พัฒนากรอำเภอ-บัณฑิตอาสา” ทำหน้าที่ “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมโยงประโยชน์ “อีอีซี” สู่ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ อย่างเป็นรูปธรรม 

วันนี้ (3 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดงานสัมมนา “บทบาทพัฒนากร โซ่ข้อกลางเชื่อมประโยชน์ อีอีซี สู่ประชาชน” ขึ้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมี นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม สกพอ. น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และนายเอกราช ญาณอุบล ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมในการสัมมนา ควบคู่ไปกับ คณะวิทยากรจากวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ที่มาจัดทำเวิร์คช็อป (Workshop) ให้ความรู้

S 131375122

เวทีสัมมนานี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ และนำเสนอความคืบหน้า เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในทุกมิติ ให้กับพัฒนากรอำเภอ และบัณฑิตอาสา ที่ทำงานร่วมกับพัฒนากรอำเภอในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้คนกลุ่มนี้ สามารถเป็นกลไกสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และเป็นเสมือน”โซ่ข้อกลาง” เชื่อมโยงประโยชน์ของอีอีซี ไปยังประชาชน และชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการ และบริบทของการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ

S 131375120

S 131375121

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า การพัฒนา 3 จังหวัดอีอีซี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายๆ โครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ  การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด รวมถึง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่ มีงานทำ เพื่อสร้างรายได้ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเอง และครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาในช่วงปี 2551 – 2561 เป็นผู้ว่างงานในแต่ละปี จำนวนเฉลี่ยกว่า 381,661 คน และเมื่อเจาะจงไปที่สถานการณ์การมีงานทำ และการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี พบว่า เป็นผู้ว่างงานจากสาขามนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์มากที่สุด รองลงมาคือสาขาครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ และสาขาบริหารธุรกิจ

S 131375116

S 131375119

การว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นการลงทุนทางทรัพยากรบุคคลที่ศูนย์เปล่าในการบริหารจัดการของประเทศไทย จึงทำให้เกิดแนวคิด “โครงการบัณฑิตอาสา” ขึ้นมา

โครงการนี้ เป็นโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างสกพอ. มหาวิทยาลัยบูรพา และกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศ ในการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มต้นในพื้นที่อีอีซี ให้บัณฑิตที่ว่างงาน และอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี  ได้มีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง สำรวจผลกระทบของชุมชน จากการพัฒนาพื้นที่อีอีซี และเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคง ในการวางแผนพัฒนาชุมชน ยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี ควบคู่ไปกับการเติบโตของพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

S 131375114

S 131375123

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo