Politics

กมธ. ขีดเส้นส่งเอกสารแจง ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ถ้าไม่โปร่งใสส่งฟัน ป.ป.ช.

“กมธ. คมนาคม” ขีดเส้น 2 สัปดาห์ หน่วยงานต้องส่งเอกสารแจงปมขยายสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 30 ปี หากข้อมูลฟังไม่ขึ้น พร้อมส่ง “ป.ป.ช.” ฟันทันที

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอขยายสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนว่า

กมธ. รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ภายหลังจากที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้ง กรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักบริหารหนี้, กรมการขนส่งทางราง (ขร.), กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง มาชี้แจงถึงแนวทางและเหตุผล รวมถึงข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ แล้วยอมรับว่า ข้อมูลที่ได้ทางคณะกรรมาธิการฯ มองว่ายังไม่มีความชัดเจนที่สามารถตรวจสอบ หรือ อ้างอิงที่มาที่ไปที่จะรับฟังได้หากมีการต่อขยายอายุสัญญาสัมปทานให้เอกชนว่า ประโยชน์ที่แท้จริงประชาชนและ ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างไร

ดังนั้น ทางกรรมาธิการคมนาคม สภาฯ จึงได้ทำหนังสือออกไปเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อตอบคำถามในสิ่งที่ทาง สภาฯ ได้ถามไปให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร  ซึ่งตามกำหนดได้ให้ส่งกลับมายังสภาฯ ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้นทาง คณะกรรมาธิการคมนาคมจะมาสรุป เพื่อมาประมวลข้อมูลทั้งหมด

จากนั้นคณะกรรมาธิการคมนาคมจะสรุปผลทั้งข้อดี ข้อเสีย เหตุผลในทุกๆ ด้านมาประกอบ ซึ่งหากพิจารณาและสรุปออกมาแล้วทางคณะกรรมาธิการยังพบว่าไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือ ภาครัฐ หรือสุ่มเสี่ยงไปในทางที่ไม่โปร่งใส ทางคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาฯ จะส่งผลสรุป ไปยังหน่วยงานที่ตรวจสอบความไม่โปร่งใส ประกอบด้วย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ รัฐบาล

2MOT 2562 12 04 รวค.ต้อนรับคณะกมธ.คค. by PP 201

นายโสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องทำความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากที่ผ่านมา กมธ. เรียกมาชี้แจง แสดงความเห็น กลับพบว่า มีบางหน่วยงานให้ข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน ไม่หนักแน่นพอ ประกอบกับการขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี แลกกับค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ในขณะที่สัญญาสัมปทานที่ กทม. มีกับ BTS นั้นจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2572 หากมีการขยายจะไปสิ้นสุดในปี 2602

โดยมีการอ้างว่า หากต่อขยายสัญญาเพื่อให้ทันตามแผนการเปิดให้บริการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคตช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ มีความต่อเนื่องในการเดินทาง โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนรถ รวมถึงได้รับความสะดวก ปลอดภัย และค่าโดยสารที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ในทางปฎิบัติหากไม่มีการต่อขยายสัญญา โครงการดังกล่าวจะตกเป็นของภาครัฐอยู่แล้ว และหากในอนาคต รัฐบาลมีรถไฟฟ้าหลายสายหากจะมีการเชื่อมต่อระบบระหว่างกัน จะทำให้มีการควบคุมราคา หรือ ลดราคา โดยการใช้ตั๋วร่วม ในทางนโยบายของรัฐบาลทำได้ยากทันที

ดังนั้นเรื่องนี้ทางสภาฯ จึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญขณะเดียวกันทางสังคมได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด  ในฐานะนิติบัญญัติ เมื่อได้ข้อมูลมาทางกรรมาธิการคมนาคม สภาฯ จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมองว่า หากมีการต่อขยายอายุสัญญา ให้กับเอกชน ถือเป็นการเพิ่มนัยยะที่สำคัญของสัญญาทันที โดยที่ไม่มีการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการหลังหมดสัญญา

“ประเด็นสำคัญเรื่องนี้ มีการพิจารณาตามข้อกฎหมายว่า การขยายสัมปทานดังกล่าว เข้าข่ายเป็นแค่การต่อสัญญา หรือการแก้ไขสัญญาที่มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเส้นทางต่อเชื่อมระยะทางเพิ่มขึ้น  การกำหนดราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นที่อ้างว่ามีการสอบถามความเห็นของประชาชนบางส่วนแล้ว และรับได้กับราคาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การคำนวณค่าโดยสารจะต้องมีการนำข้อมูลฐานผู้ใช้บริการมาคำนวณกับดัชนีราคาผู้บริโภคต่างๆ เพื่ื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด” นายโสภณ กล่าว

ประยุทธ์30111

ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ให้เครือ BTS หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ว่า

ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ ซึ่งรัฐบาลยึดหลักผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ใครที่วิพากษ์วิจารณ์ขอฝากให้ไปดูว่ารถไฟฟ้ามีกี่ช่วง มีช่วงที่ 1 ช่วงที่ 2 ช่วงที่ 3 และปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะทำ จะจ้างใคร งบประมาณของ กทม. มีหรือไม่ ที่ผ่านมาขาดทุนเพราะอะไร ระยะที่ 1 และ 2 ก็ไม่ได้เริ่มสมัยตน

วันนี้ก็ต้องพิจารณาตลอดสายเพื่อให้ความเป็นธรรม เพื่อประชาชนได้ประโยชน์จากค่าโดยสารที่ถูกลง หากไปเปรียบเทียบกับสายอื่นก็เป็นคนละแบบ มันจะต้องดูหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดูความเป็นมา หลักการ และเหตุผล

เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือใน ครม. เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยไปทำข้อพิจารณาเพิ่มเติมขึ้นมา โดยการหารือร่วมกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม กทม. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ปัญหาสำคัญของ รถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ หนี้ที่ค้างอยู่ จะทำอย่างไรในระยะที่ 1 เพราะวันนี้หากเดินต่อไปหนี้ก็จะครอบไปเรื่อยๆ แล้ววันข้างหน้าจะแก้ไขอย่างไร ให้ลองไปคิดดูแล้วกัน ก็ไปช่วยกัน ถ้าใครมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าให้เสนอเข้ามาเลย รัฐบาลจะนำไปพิจารณา แต่ถ้าไปพูดให้เสียหายก็แก้อะไรไม่ได้เหมือนเดิม รัฐบาลนี้ก็รับแก้ปัญหามาตลอด ก็ขอให้เห็นใจหน่อยก็แล้วกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo