Politics

‘บ้านพิษณุโลก’ บ้านที่นายกรัฐมนตรีไทยไม่ยอมเข้าอยู่ ท่ามกลางเสียงร่ำลือ ‘สุดเฮี้ยน’

บ้านพิษณุโลก เปิดประวัติเฉียด 100 ปี บ้านประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่แทบจะไม่มีนายกรัฐมนตรีไทยคนไหน ยอมเข้าอยู่ ท่ามกลางเสียงเล่าลือ “ผีดุ”

กลายเป็นปมสำคัญ ชี้ขาดชะตาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินคดี บ้านพักทหาร วันนี้ เวลา 15.00 น. จึงเป็นคำถามว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้าพักที่ บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย

บ้านพิษณุโลก

แต่กลับใช้บ้านพักทหาร ที่เคยอยู่ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าเช่าให้กับราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ 30 กันยายน 2557 จนนำมาสู่การฟ้องดำเนินคดีและตัดสินใจวันนี้

ทำไมนายกรัฐมนตรีไทย เมินบ้านพิษณุโลก

หากไล่เรียงประวัติการเข้าพักในบ้านพิษณุโลก ของนายกรัฐมนตรีไทย พบว่า ตั้งแต่การปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522 และมาแล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524

พลเอกเปรม ได้ย้ายเข้าไปพัก แต่ก็อยู่เพียง 2 วัน แล้วย้ายออกไปพักที่บ้านพักเดิมคือ บ้านสี่เสาเทเวศร์ ต่อมาในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยเรียกกันติดปากสื่อมวลชนว่า “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” แต่ไม่ได้มีการใช้เป็นที่พัก

บ้าน

จากนั้น มีเพียง นายชวน หลีกภัย ที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้าย ที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกหลังนี้ และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน

อย่างไรก็ตาม ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยให้เหตุผลในการไม่เข้าพักที่บ้านพิษณุโลกว่า เนื่องจากการซ่อมแซมยังไม่เรียบร้อย ซึ่งหากดำเนินการเสร็จ ก็อาจย้ายเข้าไปพัก หากศาลมีคำวินิจฉัยไม่ให้พักบ้านหลวง แต่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง พร้อมระบุว่า ไม่กังวลเรื่องอาถรรพ์ เพราะทำความดีเพื่อแผ่นดิน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เปิดประวัติบ้านพิษณุโลก

สำหรับบ้านพิษณุโลก ชื่อเดิม คือ บ้านบรรทมสินธุ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2465 หรือมีอายุถึง 98 ปี เป็นบ้านแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ออกแบบและสร้างโดย มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในปี 2465 บนที่ดินประมาณ 50 ไร่ ในอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เมื่อสร้างเสร็จ พระองค์พระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์ให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ และถ้า หันหน้าเข้าตัวบ้าน ด้านขวามือจะเป็นสโมสร อัศวราช หรือ กองม้าต้น

บ้านพิษณุโลก

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูลอนิรุทธเทวา ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวา จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์ เพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้ แต่ได้รับการปฏิเสธ พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัว ได้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดนนทบุรี และไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์แต่อย่างใด

ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบ้านบรรทมสินธุ์ เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวาเพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2485 รัฐบาลได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ “กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น” สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านไทย-พันธมิตร”

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม บ้านไทย-พันธมิตรได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสันติภาพ” เพื่อลบภาพพจน์ในการเข้าร่วมสงคราม และต่อมาในปี 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านพิษณุโลก” เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก

S 15884347

รัฐบาลยุคต่อมาได้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522 และมาแล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524

ที่ผ่านมา บ้านพิษณุโลก มีกิตติศัพท์ร่ำลือว่า ผีดุ จนเป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พักได้เพียง 2 วันเท่านั้น ก็ย้ายออกไป แต่ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ซึ่งเป็นทายาทของพระยาอนิรุทธเทวา และเคยพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อสมัยเด็ก ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องผีดุแต่อย่างใด ทั้งที่ตนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้ไป

แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผล ที่ทำให้บรรดานายกรัฐมนตรีไทย ไม่เข้าไปพำนักในบ้านพิษณุโลก เนื่องจากเป็นเพราะยังไม่มีนายกฯ คนใด เข้าพักเป็นทางการ จึงไม่มีอุปกรณ์ เครื่องเรือน สำหรับอาศัย และเหมาะสำหรับเป็นสถานที่รับรองแขกมากกว่าพักอาศัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo