Politics

อดีตบิ๊ก มธ. ยกเคสบ้านพัก ‘ประยุทธ์’ เทียบ ‘สมัคร’ ปลาจะตายน้ำตื้นอีกหรือไม่?

“อดีตบิ๊ก มธ.” ยกเคส บ้านพัก “ประยุทธ์” เทียบชิมไปบ่นไปของ “สมัคร สุนทรเวช” จับตานายกฯ จะเข้าโหมด “ปลาตายน้ำตื้น” อีกคนหรือไม่

วันนี้ (2 ธ.ค. 63) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ถึงกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลา 15.00 น. วันนี้ เนื่องจากฝ่ายค้านยื่นวินิจฉัยประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพักอาศัยในบ้านหลวง แม้เกษียณอายุราชการแล้ว

โดยต้องจับตาการอ่านคำวินิจฉัยช่วงบ่ายวันนี้ว่า กรณีนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และรัฐมนตรี ได้รับประโยชน์จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษกว่าคนอื่นหรือไม่

ถ้าหากศาลฯ พิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเปรียบเหมือนสำนวน “ปลาตายน้ำตื้น” หมายถึงคนที่พลาดท่าเสียที เพราะเรื่องเล็กน้อย เช่นเดียวกับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอดีต

บ้านพัก ประยุทธ์

รศ.หริรักษ์ โพสต์ถึงเคส “บ้านพัก” ประยุทธ์

“บ่ายนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของทหาร จนถึงปัจจุบันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 หรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 และมาตรา 170

รัฐธรรมนูญมาตรา 184 อยู่ในหมวด 9 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นมาตราที่ใช้บังคับกับ ส.ส.และ ส.ว. ใน (3) เขียนไว้ว่า

“(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ”

มาตรา 186 ระบุว่า

“ให้นำความในมาตรา 184 มาใช้บังคับต่อรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม….”

ส่วนมาตรา 170 ระบุว่า

“ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

.

.

(5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187”

ดังนั้น หากการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อมาตรา 184 ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเฉพาะตัว

คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า สิ่งที พล.อ.ประยุทธ์กระทำ เป็นสิ่งผิดจริยธรรม ร้ายแรง ตามที่ ส.ส. ฝ่ายค้านคนหนึ่งกล่าวหาหรือไม่ เพราะการพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของทหารหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว มีให้เห็นโดยทั่วไป และสำหรับพลเอก ประยุทธ์ แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงทำงานให้ประเทศชาติ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุผลของพลเอก ประยุทธ์ที่ว่า ทำให้ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัย จึงฟังดูสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

บ้านพัก นายก

คำถามที่สำคัญจึงไม่ใช่เรื่องจริยธรรม และไม่ใช่คำถามว่า กองทัพบกอนุญาตตามระเบียบอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่า การพักอาศัยในบ้านรับรองของทหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆในธุรกิจการงานปกติ ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงทหารเกษียณ ที่กองทัพบกอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ในบ้านรับรองของทหาร โดยที่กองทัพบก จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟให้ โดยมีระเบียบรองรับ กรณีข้างต้น จะไม่เป็นปัญหาใดๆ เลย แต่นี่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่ง

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 184 น่าจะไม่ต้องการให้ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี ได้รับประโยชน์จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษกว่าคนอื่น เพื่อรักษาความเป็นกลางไว้นั่นเอง

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นกรณี “ปลาตายน้ำตื้น” เช่นเดียวกับคุณสมัคร สุนทรเวช หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บ่ายนี้ครับ”

สมัคร สุนทรเวช

กรณี “สมัคร สุนทรเวช” พ้นนายกฯ

สำหรับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ รศ.หริรักษ์ ยกมาเทียบกับกรณี พล.อ. ประยุทธ์ นั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2551

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า สมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo