Economics

แบงก์ชาติจับตาการเมืองในประเทศ ปัจจัยเสี่ยง ‘ใหม่’ เศรษฐกิจไทย

เปิดรายงานการประชุมกนง. กังวลค่าเงินบาทแข็งค่าฉุดการฟื้นตัว ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง จับตาปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและ มีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด 

คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดาเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ซึ่งจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น อาทิ การปรับกฎเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้เสรีขึ้น ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ และการเปิดให้คนไทย ฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสาคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง

สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสาคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด

กรรมการหลายท่าน กล่าวถึงความท้าทายในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากบริบทใหม่ภายหลังการระบาด ของ COVID-19 จะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม จึงเห็นควรให้เร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน รวมถึงเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ภาครัฐ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าโดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายที่เหมาะสมหากจำเป็น

อ่านรายละเอียด รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

Avatar photo