Economics

ปลุกระดมชุมชนทั่วประเทศจัดการ ‘ขยะ’เหลือศูนย์

จัดการขยะชุมชน

เมื่อถึงเวลาคับขัน คนไทยมักจะหันมารวมตัวแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่ทุกภาคส่วนกำลังเข้ามาจัดการ “ขยะ” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศในตอนนี้

กองขยะมูลฝอยระหว่างปี 2551-2565 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 40,662.42 ตันต่อวัน เป็น 42,900.26 ตันต่อวัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนเพิ่มจาก 1.13 เป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

วันนี้ชุมชนกำลังขยับเขยื้อนกันขนานใหญ่ มีการรวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ บ้านไหนตำบลใดประสบผลสำเร็จในการจัดการขยะก็มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อขยายจากโมเดลต้นแบบไปสู่การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ

ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพในวันนี้ (4 ต.ค.)  มีความร่วมมือของหลายๆองค์กร ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 2๐๐ คนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

สร้างตำบลปลอดขยะ

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เกริ่นนำเพื่อกระตุ้นชุมชนที่มาร่วมงาน ว่า ความสำเร็จในการแก้ปัญหาขยะของประเทศไทย ต้องมี 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.มีความมุ่งมั่นร่วมกัน (Purpose) สร้างสังคมที่สมดุลและมีสันติสุข 2. พัฒนาฐานราก (Physical) ทั้ง 8 พันตำบล 8 หมื่นหมู่บ้าน และ 3. สานความร่วมมือ (Participation) โดยเน้นการสื่อสารที่ดี เพื่อทำให้คนเกิดปัญญา และปฏิบัติตาม ดีกว่ามาตรการบังคับด้วยกฎหมาย หรือใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง

“หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ และ ภาคประชาสังคม ร่วมมือกัน คิดว่าตำบลปลอดขยะ หรือขยะเป็นศูนย์นั้น เกิดขึ้นได้แน่นอน” 

นายซัยฟุตดีน เหร็มอะ ที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้านเขานา ต.คลองทราย อ.นาที จ.สงขลา เล่าว่า ในช่วงปี 2550 ขยะถูกทิ้งขว้างไปทั่วหมู่บ้าน แต่เนื่องจากหมู่บ้านของเรามีต้นทุนที่ดีในการรวมกลุ่มกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนจนเป็นหมู่บ้านโอท็อป จึงใช้พื้นฐานนี้มาระดมความคิด และจัดการขยะครบวงจร ทำธนาคารขยะ มีการตั้งจุดพักขยะในหมู่บ้าน ไม่มีถังขยะหน้าบ้าน เพื่อเอาขยะมารวมกัน ง่ายต่อการรีไซเคิล แปรขยะเป็นปุ๋ย นำเศษผักผลไม้มาเลี้ยงไส้เดือน พร้อมไปกับงดใช้สารเคมีในชุมชน และทำธนาคารต้นไม้ แจกกล้าไม้ให้คนในหมู่บ้านช่วยกันปลูกสองข้างทาง ทำให้หมู่บ้านของเราได้รับการยกย่อง เป็นหมู่บ้านที่มีภูมิทัศน์สะอาด ร่มรื่น ปลอดขยะ ที่เกิดผลมากไปกว่านั้น ก็คือ ไม่พบไข้เลือดออกแม้แต่รายเดียวในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

5 เคล็ดลับจัดการระดับชุมชน

ขยะก็เป็นปัญหาของชุมชนหนองพลวงมาก่อน แต่ก็มีการจัดการจนไร้ปัญหา นพ.สุนทร โสภณอัมพรเสนีย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองพลวง ต.หนองพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา บอกว่าตั้งแต่ขยะเริ่มเป็นปัญหา จึงมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง และคิดว่างานบุญปลอดเหล้าที่ว่ายากยังทำได้ การจัดขยะก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน

เขา เผย 5 เคล็ดลับที่ทำให้การจัดการขยะในพื้นที่ประสบผลสำเร็จว่า

1.ปลุกกระแสให้คนเข้ามาช่วยกันแก้ไขด้วยการ “ทำดีเพื่อพ่อ” และให้คนอดทนกับการแก้ปัญหานี้ด้วยการนำเรื่องราวของพระมหาชนกมาสร้างสัญลักษณ์

2.ร่างธรรมนูญสุขภาพร่วมกัน เพื่อเป็นกฎกติกาชุมชนแก้ปัญหาขยะ

3.เยี่ยมเยียนหมู่บ้านต่างๆเพื่อเสริมพลัง และให้คะแนนหมู่บ้านที่มีการจัดการขยะดี พร้อมให้โล่เกียรติยศ และของใช้เล็กๆน้อยจากขยะรีไซเคิล

4.ให้ความรู้ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง และมีการศึกษาดูงานระหว่างหมู่บ้าน

3 ปีที่ผ่านหมู่บ้านต้นแบบค่อยๆขยายวง จนเป็น 64% ของหมู่บ้านทั้งหมดแล้ว

 

ขยะชุมชน 2

ด้านพิษณุโลกก็จัดการขยะได้ดีไม่แพ้กัน นพ.สุธี ฮั่นตระกูล รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เล่าว่า กว่า 10 ปีมาแล้วที่พิษณุโลกจัดการขยะมูลฝอยโดยใช้นโยบาย Zero Landfill ทำให้เหลือขยะน้อยที่สุดก่อนฝังกลบ หรือไปสู่เตาเผาขยะ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดระดับชุมชน ครัวเรือน และนำไปรีไซเคิล จนพบว่าปริมาณขยะทั้งหมดถูกแยกขาย 40% ทำปุ๋ยหมัก 40% เหลือกำจัดเพียง 20%

ที่ต้องเน้น คือ ต้องเชื่อมต่อการบริหารจัดการกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้ได้ การจัดการที่ดีจึงจะทำได้อย่างต่อเนื่องระยะยาว

ร.อ.สนอง กลิ่นทอง ประธานชุมชนสระสองห้อง จังหวัดพิษณุโลก เสริมว่าในพื้นที่ยังนำขยะที่ถูกคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ มาสร้างมูลค่านำมาทำเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนสวัสดิการรองรับ ทำให้ชุมชนได้ทั้งเงินปันผลกลับคืน มีค่ารักษาพยาบาลให้เมื่อเจ็บป่วย และค่าชดเชยเมื่อเสียชีวิตด้วย

เกาะสมุยทำข้อตกลงห้ามทิ้งขยะเปียก

ส่วนพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง “เกาะสมุย” ที่น่าจะจัดการได้ยาก ก็ได้รับการยกย่องว่าจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ น.ส.พรทิพย์ จันทร์ผ่อง รองปลัดเทศบาลนครเกาะสมุย เล่าสถานการณ์ว่า เมื่อครั้งที่สมุยได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงเผาขยะมีขยะไม่ถึง 40 ตัน ปี 2551 ขยะเพิ่มเป็น 150 ตัน

แต่เมื่อมีการจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะในปี 2561 เพิ่มจากปี 2551 มาเพียง 10 ตันเท่านั้น จากที่ควรต้องเพิ่ม 4 เท่า หรือ  480 ตัน

วิธีการคือ นำร่องโดยร่วมมือกับโรงแรม 20 แห่งนำขยะเปียกไปทำน้ำหมัก และปุ๋ยลดในแปลงผักปลอดสารพิษเพื่อทำอาหารในโรงแรม เมื่อโรงแรมอื่นเห็นประโยชน์ ก็เข้าร่วมเพิ่มเป็น 126 โรงแรม และให้โรงแรมไปเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนในการบริหารจัดการขยะ  1-2 โรงแรมต่อ 1 โรงเรียน ขยายต่อไปชุมชน มีการส่งเสริมการเลี้ยงหมู เลี้ยงไส้เดือน และทำปุ๋ยแจกให้เกษตรกร ส่วนขยะรีไซเคิลก็พบว่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันก็มีองค์กรการกุศล และอาสาสมัครสาธารสุข (อสม.) มาช่วยขับเคลื่อนด้วย และปัจจุบันนี้มีการทำข้อตกลงกับร้านค้า ร้านอาหาร และสถานประกอบการอื่นๆ ร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะเปียก ซึ่งเป็นปัญหามากของเกาะสมุยที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ปัญหาใหญ่ของสมุยลดลง

ขณะที่ นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้แทนชุมชนเกาะสมุย เล่าถึง โมเดลบริหารจัดการขยะชุมชนบางมะขามว่า เป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน มีการรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนไปเก็บขยะ และบริหารจัดการขยะเปียก อาทิ เศษอาหารต่างๆ จากโรงแรม บ้านเรือน โดยนำมาทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และใช้เลี้ยงหนอนแม่โจ้ ซึ่งช่วยย่อยขยะได้เร็วกว่าไส้เดือน 5 เท่า ทำให้เกิดรายได้ขึ้นมา จากการขายปุ๋ยและหนอน เกิดเป็นรายได้สุทธิถึง 41,000 บาทต่อเดือน ปีที่ 1-4 ที่ทำโครงการ สร้างรายได้กลับเข้ามาถึง 7.4 ล้านบาทเพียงพอกับรายจ่ายค่าบริหารจัดการ และยังกำจัดขยะเปียกได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน

วงพาณิชย์จัดการขยะต้องมีกำไร

ส่วนธุรกิจจัดการขยะก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการจัดการขยะที่กำลังตื่นตัวทั่วโลก  ดร.สมไทย วงษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงพาณิชย์ จำกัด ย้ำ แนวคิดสำคัญในการแก้ปัญหาขยะว่าต้องทำมีกำไร ไม่ขาดทุน ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่รอด นั่นหมายถึง ต้องมีตลาดรองรับสินค้าที่ทำจากขยะ เพื่อให้คนที่คัดแยกขยะมีรายได้

ยกตัวอย่างปัจจุบันนำขยะจากเกาะสมุย 30 ตันต่อวันเข้ากรุงเทพ  อาทิ ขวด กระป๋อง ถุงพลาสติก สู่โรงงานแปรรูปเป็นเชือก แห อวน ส่งขายฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ทำเสื้อนักเรียน เสื้อนักกีฬาบอลโลก  เป็นต้น ล่าสุดบริษัทกีฬายักษ์ใหญ่ เช่น ไนกี้ อาดิดาส ก็เสนอให้บริษัทรวบรวมขยะพลาสติกในทะเล ผลิตเป็นโรงเท้ากีฬาจากปกติคู่ละ 1,500 บาท เป็น 4,000 บาท

ปัจจุบันบริษัทได้ก่อตั้งสถาบันรีไซเคิลแห่งแรกของอาเซียนใช้ชื่อว่า Asean Institute of Recycling (AIR) ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก และเรามีสาขาแล้วถึง 1,680 แห่ง และยังขยายไปต่างประเทศ รวมถึงสหรัฐที่มี 2 สาขา

13 ปีที่ทำมา ต้องขอบคุณ ซาเล้ง ที่ทำให้เรามีวิชาคัดแยกขยะ เรียกว่าเป็น “ซาเล้งวิทยา” และที่ประสบผลสำเร็จ เพราะหลักการสื่อสารด้วย ที่บอกว่า ขยะเป็นทอง จนทำให้คนเห็นภาพ ให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีขยะ ทุกอย่างเป็นทรัพย์สินได้ทั้งหมด”

 

 

Avatar photo