Economics

‘ปตท.’ ปรับพอร์ตลงทุน รับเทรนด์โลก มุ่งสู่ ‘พลังงานใหม่-ชีวภาพ’

 

กลุ่ม ปตท. เดินหน้าปรับกลยุทธ์ก้าวสู่โลกยุค “New Normal”  ปรับพอร์ตการลงทุน มุ่งสู่ธุรกิจที่เติบโต ตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “New Normal” ซึ่งไม่เพียงแค่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

cover ปตท ปรับพอร์ตลงทุน

ยุค “New Normal” ที่กำลังเกิดขึ้น และเห็นการเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปตท. มองสิ่งที่จะเกิดขึ้นสำคัญ ๆ คือ

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี            (Technology Disruption)
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ          (Climate Change)
  • การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน             (Energy Transition)
  • ความเป็นเมือง                                       (Urbanization)
  • การขึ้นมามีบทบาทของภูมิภาคเอเชีย   (Rise of Asia)
  • ลักษณะการแบ่งเขตตามภูมิภาค           (Regionalization)
  • ความขัดแย้งการเมืองระดับโลก            (Divided World)
    ทำให้เกิดการแบ่งแยกการรวมกลุ่ม ของประเทศทั่วโลก

นางอรวดี กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. นับเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการสร้างรายได้ให้กับรัฐ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และการพัฒนาประเทศ

กลุ่ม ปตท. ถือว่า เป็นกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทในกลุ่มร่วมกันทั้งสิ้น 309 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นโดยตรง 34 บริษัท มีรายได้รวมในปี 2562 กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 2.4 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ระดับ 9.3 หมื่นล้านบาท

ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. คิดเป็น 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อีกทั้งในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544-2562 กลุ่ม ปตท. ส่งรายได้ให้รัฐ ในรูปเงินปันผล และ ภาษีเงินได้รวม 9.5 แสนล้านบาท

กลุ่ม ปตท. ยังมีความสำคัญต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จากบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัท โดยมูลค่าตลาดของกลุ่ม มีมากกว่า 10% ของมูลค่าบริษัททั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์

00
อรวดี โพธิสาโร

ปรับพอร์ตลงทุนไปสู่ธุรกิจที่เติบโตระยะยาว

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2564-2573 จะแบ่งเป็น 5 กลุ่มเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว

  • กลุ่มธุรกิจเดิม  (Current Business)

คิดเป็น 75% ของงบลงทุน โดยมุ่งขยายการลงทุนต่อยอดธุรกิจเดิม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือภายในกลุ่ม หรือร่วมกับพันธมิตร ทางธุรกิจ เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น

  • กลุ่มพลังงานใหม่  (New Energy)

คิดเป็น 12% ของงบลงทุน มุ่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ การพัฒนา Smart Energy Platform และ EV Charging Station

  • กลุ่มธุรกิจใหม่ (New Business)

คิดเป็น 11% ของงบลงทุน เพื่อหาโอกาสในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีแนวโน้มเติบโต หรือ มีศักยภาพในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

  • กลุ่มลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment) และ ลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment Investment)

อย่างละ 1% ของงบลงทุนเพื่อดำเนินโครงการเพื่อสังคม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคม และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุตามเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท.

S 49578219

นางอรวดี กล่าวว่า การลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ เช่น การหาโอกาสเข้าลงทุน ในธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ที่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ (M&A) โรงงานผลิตยาในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มโซนเอเชียก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2564 หลังจากที่ในประเทศ ปตท. ได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง 

ส่วน ธุรกิจพลังงานใหม่ที่น่าสนใจ คือ เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ที่มุ่งเรื่องของพลังงานสะอาด เช่น ไฟฟ้า ทำให้ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และปัจจุบัน รัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนรถ EV มากขึ้น 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างก่อสร้าง โรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อทำ Value chain จึงมองโอกาสต่อยอดสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในอนาคตด้วย ซึ่งจะต้องศึกษาการลงทุนอย่างรอบคอบ เพราะมีหลายปัจจัย ทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการของตลาดในอนาคต 

“ในปี 2564 ปตท. ตั้งเป้าใช้งบลงทุนมากกว่าระดับปกติ ที่มีการลงทุนแต่ละปีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หลังมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ และธุรกิจพลังงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่จะต้องรอการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. ในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่ออนุมัติก่อน” 

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็น “ของจริง”

คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ จะมีการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งจะเห็นได้จาก “ไฟฟ้า” เข้ามาเป็นพลังงานหลัก ในยานยนต์มากขึ้น

นางอรวดี กล่าวว่า น้ำมันคงไม่หมดไป แต่สัดส่วนจะลดลง โดยคาดว่า สัดส่วนของพลังงาน เมื่อจำแนกตามเชื้อเพลิงแล้ว น้ำมันจะลดจากปี 2561 ที่มีสัดส่วน 33% เหลือ 14% ในปี 2593 โดยพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จาก 5% เพิ่มเป็น 44%

ส่วนการใช้น้ำมัน เพื่อการขนส่งจะลดจาก 93% เหลือ 43% จะทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และไฮโดรเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในปี 2593 การใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคขนส่งจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนถึง 33%

ดังนั้น กลุ่ม ปตท. จึงต้องมีการปรับธุรกิจ ที่อิงกับน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่ธุรกิจพลังงานใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo