Economics

ทอท.จ้างออกแบบเทอร์มินอล 2 ครั้งสุดท้าย แจงหลังจากนี้ขอทำงานเอง!

ทอท. ลั่นจ้างออกแบบเทอร์มินอล 2 และรันเวย์ 3 เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะศึกษาและออกแบบโครงการด้วยตัวเอง คาดช่วยประหยัดงบประมาณ 7 พันล้านในปี 10 ปี ตั้งเป้าติดท็อปเทนสนามบินดีที่สุดในโลก

เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย ทอท.
เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากนี้ ทอท. มีนโยบายจะศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดระยะเวลาดำเนินโครงการ

นอกจากนี้จะช่วยประหยัดค่าจ้างที่ปรึกษาและค่าจ้างออกแบบไปได้ 3.5% ของมูลค่าโครงการ เช่น แผนพัฒนาสนามบิน 6 แห่งของ ทอท. ระยะเวลา 10 ปี มูลค่าการลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท ก็จะประหยัดงบประมาณไปได้ 7,000 ล้านบาท

“เดิมการทำงาน 1 โปรเจคต้องมีค่าที่ปรึกษา ค่าออกแบบ ค่าคุมงาน และค่าก่อสร้าง เช่น แผนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องเริ่มระหว่างปี 2555-2560 แต่ล่าช้าเพราะต้องประกวดราคาว่าจ้างที่ปรึกษาและประกวดแบบประมาณ 3 ปี กว่าจะประมูลก่อสร้างได้จริงก็ปี 2558 ต่อไปนี้ ทอท. จึงจะทำเอง แปลว่าทันทีที่คิดจะทำโครงการ เราก็ออกแบบเอง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก็สร้างได้เลย ลดการเสียเวลาไปได้อย่างน้อย 2 ปี ส่วนการประหยัดงบเป็นเรื่องรอง” นายอเนกกล่าว

สุวรรณภูมิ ถนน เทอร์มินอล 2

เตรียมบุคลากรดูแลโครงการ

ทั้งนี้ ทอท. เริ่มดำเนินการศึกษาและวางแผนแม่บท (Master Plan) เองมาตั้งแต่ปี 2560 เช่น แผนแม่บทสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานลงจาก 9 ปี เหลือ 6 ปี รวมถึงแผนแม่บทสนามบินดอนเมืองเฟส 3 โดยการวางแผนของ ทอท. จะยึดความต้องการของผู้โดยสารและความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย

ขณะเดียวกัน ทอท. ได้ออกแบบรายละเอียดโครงการต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งหมดแล้ว เช่น อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ในสนามบินดอนเมือง, ส่วนต่อขยายสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังเหลืออีก 2 โครงการ ที่ ทอท. จะว่าจ้างออกแบบเป็นครั้งสุดท้าย ได้แก่ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะมีงบประมาณว่าจ้างออกแบบและตั้งเป้าจะประกวดออกแบบตั้งแต่ต้น รวมถึงโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (Runway) แห่งที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งลงนามว่าจ้างผู้ออกแบบและได้รับแบบเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน ทอท. มีทีมงานศึกษาและออกแบบ 200 คน ประกอบด้วยวิศวกร 160 คน และสถาปนิก 40 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนสนามบินจำนวน 30 คน โดย ทอท. เตรียมรับพนักงานด้านนี้เพิ่มอีก 60 คน ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งการทำงานด้วยตัวเองจะทำให้องค์กรเกิดองค์ความรู้ และบุคลากรเหล่านี้จะดูแลโครงการตั้งแต่ก่อสร้างไปจนถึงเปิดให้บริการด้วย

เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย ทอท.
เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย

ตั้งเป้าติด 1 ใน 10 สนามบินดีที่สุดในโลก

วันนี้ (4 ต.ค.) นายเอนก ยังได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อชี้แจงเรื่องการปรับแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิและโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 หลังเกิดกระแสโจมตีแผนแม่บทฉบับใหม่และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2

โดยยืนยันว่า ทอท. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแผนแม่บท เพียงแต่ทบทวนให้ดีขึ้นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแก้ปัญหาที่เกิดจากแผนแม่บทฉบับเดิม เช่น ผู้โดยสารรอกระเป๋านาน, เดินไปประตูขึ้นเครื่องบินไกลหรือต้องนั่งรถโดยสารไปขึ้นเครื่องบิน, รอขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองนาน เป็นต้น

สำหรับแผนแม่บทฉบับเดิมปี 2546 ประกอบด้วยการลงทุนอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1, ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 2 รวมถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite) จะทำให้ในปี 2565 สนามบินสุวรรณภูมิจะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 75 ล้านคนต่อปีและมีประตูเทียบเครื่องบินระยะประชิด (Contact Gate) จำนวน 79 แห่ง

แต่แผนแม่บทฉบับใหม่ปี 2561 ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยมีการลงทุนอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1, ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันตก, อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จะทำให้ปี 2565 สนามบินสุวรรณภูมิจะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 90 ล้านคนต่อปีและประตูเทียบเครื่องบินระยะประชิดเพิ่มเป็น 93 แห่ง

“ทอท. ศึกษาแล้วว่า การลงทุนอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ตามแผนแม่บทฉบับใหม่จะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ เช่น รอกระเป๋านาน เดินไปขึ้นเครื่องไกล เราก็ตั้งเป้าหมายว่า การก่อสร้างอาคารแห่งนี้จะทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายมากขึ้นและจะทำให้สุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และอาจจะเป็นอันดับ 1 ได้สักวัน” นายเอนกกล่าว

สุวรรณภูมิ ถนน เทอร์มินอล 2

เทอร์มินอลใหม่ลงทุน APM 2 จุด

รายงานข่าวจาก ทอท. เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทฉบับปัจจุบันปี 2561 การลงทุนอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จะมีการก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) 2 จุดเพื่ออำนวยสะดวกให้ผู้โดยสาร

จุดแรก คืออยู่ภายนอกเขตการบิน (Land Side) ระยะทาง 1.50 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปยังอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2

จุดที่ 2 อยู่ภายในเขตการบิน (Air Side) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนเครื่อง โดยเชื่อมต่อจากอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ไปยังฝั่งตะวันออกของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1

Avatar photo