Business

แบงก์ชาติคุมเข้มบ้านหลังที่สอง-บ้านเกิน 10 ล้านต้องดาวน์ 20%

หลังจากเอกชนออกมาแสดงความเห็น ต่อมาตรการเข้มงวดของแบงก์ชาติ ซึ่งมีท่าทีว่าจะออกมาตรการมาคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ (4 ต.ค.) แบงก์ชาติได้เปิดแถลงข่าวแนวนโยบายกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกมา โดยเป็นการชิมลางในรูปแบบ เปิดรับฟังความเห็นผ่านหน้าเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ ก่อนที่จะออกประกาศบังคับใช้จริง

ธนาคารแห่งประเทศไทย1
นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อรวบรวมมุมมองความคิดเห็นประกอบการตัดสินนโยบาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบ และกำหนดแนวนโยบายให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างเหมาะสม

พร้อมกันนี้ ธปท.ได้​เผยแพร่แนวนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ตั้งแต่วันนี้-22 ตุลาคม 2561 ด้วยการนำเสนออินโฟกราฟฟิกส์ที่ว่าด้วยเรื่องการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ระบุว่า ..เรื่องสินเชื่อบ้านเป็นวงจรชวนปวดหัว

B1
แผนภาพแนวทางกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาฯ

เนื่องจากการขอสินเชื่อบ้านมีหลายปัจจัยต้องพิจารณา ในการที่ขอกู้เงินกับสถาบันการเงิน และยังมีปัญหาสถาบันการเงินแข่งขันกันให้สินเชื่อเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบปัญหาสินเชื่อไม่สัมภันธ์กับรายได้ จึงประสบปัญหาในการผ่อน นำมาซึ่งภาระหนี้สูง และสินเชื่อบ้านเป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งอาจกลายเป็นหนี้เสียได้

แผนภาพดังกล่าวอธิบายว่า เหตุผลที่ต้องมีแนวนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยออกมา เนื่องจาก มีการแขงขันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินหย่อนลง โดยพบว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ หรือออมก่อนกู้ก็สามารถขอสินเชื่อได้

B2
แผนภาพแนวทางกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาฯ

นอกจากนี้ยังพบสัญญาณการกู้ซื้อที่อยู่อาศั้ยเพื่อลงทุน โดยหวังผลตอบแทน (Search for Yield) ที่สูงขึ้น หากไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจการเงินได้

มาตรการที่ธปท.จะออกมากำกับดูแล คือ กำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการกู้ซื้อหลังที่ 2 ขึ้นไป หรือซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าสูง ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่เท่านั้น จากเดิมการซื้อบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดว่า “ควร”วางดาวน์อย่างน้อย 20% (RW by LTV 80%) ปรับมาเป็น “ต้อง”วางดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV limit 80%)

สำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป ปัจจุบันกำหนดว่า “ควร”วางดาวน์ อย่างน้อย 5-10% (RW by LTV 90-95%) ปรับมาเป็น เป็น “ต้อง”วางดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV limit 80%)

B3
แผนภาพแนวทางกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาฯ

ทั้งนี้นับรวมเงินกู้ทุกประเภทที่ใช้หลักประกันเดียวกัน ในการคำนวณ ส่วนที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้ โดยปัจจุบันนี้นับเฉพาะเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน ปรับมาเป็น เงินกู้เพื่อซื้อบ้าน +สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิต สินเชื่อเพื่อการปรับปรุง ต่อเติม ซ่อมแซม เป็นต้น โดยธปท. คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่ และไม่มีผลกระทบสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก

มาตรการดังกล่าว ธปท.คาดว่าจะช่วยป้องกันและลดดีมานด์เทียม (ความต้องการซื้อเทียม) และลดโอกาสที่ราคาที่อยู่อาศัยจะเร่งขึ้นมากเกินไป ซึ่งมาตรการกำกับดูแลจะส่งผลต่อเนื่องดังนี้

  • ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริง (Real Demand) จะสามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม กู้ในระดับที่ผ่อนชำระได้
  • ผู้กู้ซื้อเพื่อลงทุน ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินควร และลดโอกาสที่จะถูกผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์
  • ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงจากโอกาสเกิดฟองสบู่
  • สถาบันการเงิน คุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้น ลดภาระกันสำรองในอนาคต และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน
  • เศรษฐกิจไทย จะมีสเถียรภาพ ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยธปท.นำเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของธปท. เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนวนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผ่านทาง www.lbot.or.th ภายใน 22 ตุลาคม 2561 เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะพิจารณาออกหลักเกณฑ์บังคับใช้ต่อไป

Avatar photo