General

นักวิ่งต้องรู้ ‘วิ่งปลอดภัย’ ต้องฟิตร่างกาย ย้ำผู้จัด ปฏิบัติเข้มตามมาตรฐานการวิ่ง

นักวิ่งต้องรู้ วิ่งปลอดภัย ฟิตเตรียมร่างกายก่อนลงแข่ง ย้ำ ผู้จัดงานปฏิบัติเข้ม ตามมาตรฐานการวิ่ง เตรียมพร้อม หน่วยปฐมพยาบาลเคลื่อนที่

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การวิ่ง เป็นหนึ่งในรูปแบบการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่ง นักวิ่งต้องรู้ วิ่งปลอดภัย จำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง ผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัว ให้พร้อมกับกิจกรรมทางกาย ที่มีระยะเวลานาน

นักวิ่งต้องรู้ วิ่งปลอดภัย

ทั้งนี้เพราะ หากร่างกายไม่พร้อม จะทำให้เกิดผลกระทบ ต่อระบบไหลเวียนโลหิต และหายใจ รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อ โดยจะมีอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติ และหัวใจหยุดเต้นได้

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และกำลังจะเริ่มหัดวิ่ง ควรตรวจเช็คสุขภาพร่างกายก่อนวิ่ง เพื่อหาภาวะเสี่ยง ที่อาจส่งผลขณะวิ่งได้

ขณะที่ ในการวิ่งแต่ละครั้ง นักวิ่งควรมีการอบอุ่นร่างกาย เพื่อให้เลือดสูบฉีดไหลเวียน ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และก่อนหยุดออกกำลังกาย ให้ชะลอความเร็ว โดยการคลายอุ่น (cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง เพื่อลดอาการปวดเมื่อย และบาดเจ็บ ของกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ได้จัดทำมาตรฐาน การจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน โดยเน้นที่ การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก กับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน

สำหรับการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน จะต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดพยาบาลตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงกลาง และปลายของการวิ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ

เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์ฉุกเฉิน จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือ และปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เช่น การปั๊มหัวใจด้วยวิธีซีพีอาร์ (CPR) เป็นต้น โดยกำหนดให้มีหน่วยแพทย์ในการแข่ง เพื่อให้ได้มาตรฐานการจัดกิจกรรม

วิ่ง

ขณะเดียวกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสมาคมวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้เห็นชอบให้จัดทำ มาตรฐานการวิ่ง ขึ้นใหม่และประกาศใช้แล้ว

ทั้งนี้ เงื่อนไขใหม่ ผู้ขอจัดกิจกรรมวิ่ง จะต้องมีหน่วยปฐมพยาบาลเคลื่อนที่ รถพยาบาล รถฉุกเฉิน ตลอดจนการดูแลอาหาร และ น้ำดื่มให้เพียงพอ

ในส่วนของนักวิ่ง ขอให้ปฏิบัติดังนี้

1. เตรียมตัวก่อนถึง วันวิ่ง ด้วยการออกกำลังกาย หรือซ้อมมาก่อน

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้ร่างกายพร้อม เนื่องการจัดวิ่งมาราธอนส่วนใหญ่ จะเป็นช่วงเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ ดื่มน้ำให้เพียงพอ

3. สังเกตร่างกายตนเอง ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ความเหนื่อย ความอ่อนล้า หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากไม่มั่นใจ ให้รีบขอความช่วยเหลือ ยังจุดปฐมพยาบาลทันที

ก่อนหน้านี้ ได้เกิดเหตุการณ์เสียชีวิตของนักวิ่งทั้ง 3 ราย เกิดจาก โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) โดย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคดังกล่าว อาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอก บริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม

สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิต ก่อนถึงโรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่าง เต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่อย่างไรก็ดี อาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo