Digital Economy

‘บุญชัย เบญจรงคกุล’ เปิดตัวฟาร์มแม่นยำ มุ่งยกระดับเกษตรกร

Farm Man Yum service

ทำฟาร์ม IoT ก็ทำมาแล้ว วันนี้ดีแทคบุกไปอีกขั้นด้วยการจับมือกับสตาร์ทอัพด้าน AgriTech อย่างรีคัลท์ (Ricult) และบริษัทรักบ้านเกิด ส่งบิ๊กดาต้า และแมชชีนเลิร์นนิ่งมาให้เกษตรกรไทยได้ใช้กันเสียที ภายใต้ชื่อ “ฟาร์มแม่นยำ” โดยมีข้อมูลรองรับสำหรับผู้ที่ปลูกพืชกลางแจ้งถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ทุเรียน และอ้อย

โดยที่มาของความร่วมมือกันในครั้งนี้มาจากปัญหาที่เกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งประเทศต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การขาดข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลราคาพืชผล และการคาดการณ์โรคระบาด ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรไทยมีมูลค่าเพียง 10% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งถือว่าห่างจากมูลค่า GDP ของอุตสาหกรรมบริการถึง 4 – 5 เท่า

ความพิเศษของการร่วมมือครั้งนี้คือการนำจุดเเข็งทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ ร่วมกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลสถานีฐานจากทั่วโลก และการวิเคราะห์และแปลผลโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชกลางแจ้งมีโซลูชันสำหรับช่วยวิเคราะห์ผลผลิต และสามารถชี้จุดที่มีปัญหาได้อย่างแม่นยำ

ฟาร์มแม่นยำ
(ซ้ายไปขวา) นายปานเทพย์ นิลสินธพ, นายอุกฤษ อุณหเลขกะ และนายบุญชัย เบญจรงคกุล ร่วมเปิดตัวฟังก์ชัน “ฟาร์มแม่นยำ”

นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด สตาร์ตอัพในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวว่า “รีคัลท์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบ Machine Learning ประมวลและแปลผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาจัดการและวางแผนการเพาะปลูก”

นอกจากนั้น แอพพลิเคชันยังสามารถแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับรายแปลงสูงมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องด้วยการใช้ข้อมูลแบบ Microclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก เช่น GFS, Met Office, ECMWF และ Environment Canada และการใช้แบบจำลองสภาพด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฟาร์มแม่นยำ
ถ้าต้องการปลูกพืชชนิดใหม่ ๆ ก็มีคำแนะนำให้ภายในแอพพลิเคขัน เกษตรกรไม่จำเป็นต้องยึดติดกับยางพารา หรือข้าวอีกต่อไป

“ฝนมีผลมากต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ถ้าเกษตรกรมีแอพพลิเคชันที่สามารถคาดการณ์สภาพอากาศได้ล่วงหน้า 7 วันก็จะทำให้พวกเขาบริหารเวลาได้ดีขึ้น” นายปานเทพย์ นิลสินธพ รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัลกล่าวกล่าว

ขณะที่นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด เผยว่าลูกค้าของเครือข่ายดีแทคที่มีประมาณ 20 ล้านคนนั้น แบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างละครึ่งก็จริง แต่แนวทางของดีแทคในการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรนั้นต่างออกไป นั่นคือ เขาจ่ายเงินให้ดีแทคมาแต่ละเดือน เขาต้องทำเงินจากบริการของเราได้มากกว่านั้น

“เราตัวเล็กกว่าอีกสองค่าย ดังนั้นการดูแลลูกค้าก็ต้องแตกต่างจากคนอื่น คนอื่นอาจจะเน้นให้กิน เที่ยว ช้อปอย่างเต็มที่ แต่ดีแทคชวนลูกค้าให้รู้จักหาเงิน ไม่ชวนใช้เงิน ที่ผ่านมา เกษตรกรไม่มีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็ไม่มีทางสู้ซีพีได้ ทางเลือกจึงมีแค่เดินตามเขากลายเป็น 7-11 ไป หรือจะหารายได้จากทางอื่น ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในตอนนี้ มันทำได้แล้ว”

โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชันฟาร์มเมอร์อินโฟ (Farmer Info) ได้ทั้งบน App Store และ Google Play Store จากนั้นเมื่อลงทะเบียนด้วยหมายเลขดีแทคเรียบร้อยแล้วจะสามารถเข้าใช้ฟังก์ชัน “ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่อยู่ภายใต้แอพพลิเคชันดังกล่าวได้ทันที (สามารถทดลองใช้ฟรีได้ 60 วันจากนั้นจะคิดค่าบริการเดือนละ 30 บาท)

การใช้งานก็เพียงปักหมุดเพื่อระบุพื้นที่เกษตรกรรมที่ครอบครอง จากนั้นระบบจะประมวลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ว่าพืชกลางแจ้งที่ปลูกไว้นั้นมีปัญหาอะไรหรือไม่

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถใช้แอพพลิเคชันดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการปลูกพืชผลใหม่ ๆ ได้อีกด้วย โดยแอพพลิเคชันจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแนะนำว่าต้องเพาะปลูกอย่างไร ควรใส่ปุ๋ยเมื่อไร รวมถึงช่วยวิเคราะห์การเจริญเติบโต โดยในจุดนี้นายบุญชัยเผยว่า แอพพลิเคชันช่วยให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องปลูกพืชที่อิงราคากลาง อย่างเช่น ยางพารา หรือข้าวแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สามารถปลูกพืชใหม่ ๆ ที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า เช่น ทุเรียน เป็นต้น

แม้แอพพลิเคชันฟาร์มเมอร์อินโฟ – ฟาร์มแม่นยำ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรในการก้าวข้ามยุคของ Digital Disruption แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอีกหลายตัวแปรที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ  เพราะนอกเหนือจากทิศทางเรื่องดิจิทัลแล้ว พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างแผ่นดินไทยนี้ก็กำลังถูกชาติมหาอำนาจหวังจะใช้ประโยชน์เพื่อปลูกพืชที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศมหาอำนาจเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องมีนอกเหนือจากการปรับตัวรับยุคดิจิทัลก็คือความรู้เท่าทันเกมการตลาดของต่างชาติด้วยนั่นเอง

Avatar photo