Economics

‘อมตะ-เอสซีจี-ดาว’ จับมือผุดถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในอมตะซิตี้

thumbnail MOU Asphalt Road 2

บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรม  ต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์นวัตกรรมถนนยางมะตอยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ในแต่ละปีประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 1.5  ล้านตัน ที่ยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกวิธี  บางส่วนอาจถูกพัดออกสู่มหาสมุทร ส่งผลต่อระบบนิเวศ โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล ณ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ โดยความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างเอสซีจี และ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะเป็นแบบอย่างในการจัดการขยะพลาสติกจากภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าและยั่งยืน

โดยโครงการนี้วางแผนที่จะทำถนนพลาสติกรีไซเคิลในพื้นที่นิคมฯอมตะรวมทั้งสิ้น 2,600 ตารางเมตร และคาดว่าจะใช้จำนวนพลาสติกรีไซเคิลประมาณ 1.3 ตัน หรือเทียบเท่ากับถุงพลาสติก จำนวนประมาณ 1 แสนใบ  คาดว่าการก่อสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลในครั้งนี้ จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

จากการทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของถนนยางมะตอย ซึ่งใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ กับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนยางมะตอย ซึ่งมีพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบนั้นมีคุณสมบัติดีขึ้นทั้งในด้าน การเพิ่มความแข็งแรงคงทน ประมาณ 15-33 % และการเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนประมาณ 6%

thumbnail MOU Asphalt Road 1

นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาที่ดิน บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่าย เพื่อนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของการสร้างถนนในพื้นที่นำร่องภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทย

การสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิล นอกจากจะมีความแข็งแรงทนทานและประสิทธิภาพสูงกว่ายางมะตอยทั่วไปแล้ว ยังช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  อันจะนำมาซึ่งการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

 “เบื้องต้นจะมีการนำพลาสติกรีไซเคิลมาสร้างถนน 2 จุดในนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งการดำเนินงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์ของสมาร์ทซิตี้  คือ Smart Environment   สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่วางเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดสมาร์ทซิตี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และถือเป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่จะนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างถนนที่ใช้งานได้จริง  ยังเป็นโครงการนำร่องที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป “นายวิวัฒน์ กล่าว

 

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefin and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ธุรกิจ และประชาสังคม

สำหรับความร่วมมือกับอมตะและดาวครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และมีอุดมการณ์เดียวกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงและยั่งยืน โดยเอสซีจีพร้อมที่จะร่วมมือและช่วยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล ณ นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี ให้เป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้งานได้จริง และสามารถขยายโครงการนี้ต่อไปยังภาคส่วนอื่นๆในอนาคต ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

thumbnail MOU Asphalt Road 3

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ดาว ได้ริเริ่มโครงการสร้างถนนยางมะตอย จากพลาสติกรีไซเคิลในอินเดีย และอินโดนีเซียมาก่อนหน้านี้  ได้รับความสำเร็จอย่างดี โดยมีระยะความยาวของถนนรวมกว่า 40 กิโลเมตร

นอกจากถนนพลาสติกรีไซเคิล จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของถนนยางมะตอยอีกด้วย

คุณสมบัติของพลาสติกจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทาน และกันการกัดเซาะของพื้นผิวถนนได้ดีขึ้นด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้ จะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี และรูปแบบการรีไซเคิลพลาสติกให้เหมาะสม สำหรับการทำถนนในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งของการลดปริมาณะพลาสติกที่ออกไปสู่ทะเลได้อย่างเป็นรูปธรรม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight