Business

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ ‘กรุงเทพฯ-ปริมณฑล’ อยู่ระดับต่ำสุดของประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ “กรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ทรงตัวในระดับต่ำสุดของประเทศ จากการลงทุนที่มีแนวโน้มชะลอตัว สวนทาง “ภาคใต้-อีสาน” ดัชนีพุ่งพรวด 7 เดือนติด

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. ปริมณฑล

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า ดัชนี RSI เดือนพฤศจิกายน 2563 แสดงแนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของภาคใต้ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังค่อนข้างทรงตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคต เศรษฐกิจ ภาคใต้อยู่ที่ระดับ 70.5 แสดงถึงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 จากปัจจัยสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม โดยในภาคอุตสาหกรรมคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาคเกษตรกรรมคาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวปาล์มเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีแนวโน้มความต้องการยางพาราในการผลิตถุงมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ มากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เช่น การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการส่งเสริมไบโอดีเซล เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อยู่ที่ระดับ 69.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยมีภาคเกษตรและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวม อาทิ ข้าว ยางพารา และ สับปะรด  มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ประกอบกับมีการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น

shutterstock 756191968

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 65.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แสดงถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ ในอนาคตที่ดีขึ้นโดยมีภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมากขึ้นจากทั้งความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 62.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมด้านเงินทุนและการพัฒนาด้านการผลิตซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 62.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวและมีนโยบายจากภาครัฐในการขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 56.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการเกษตร เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคเกษตรกรรมคาดว่าสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ ของ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.5 แสดงถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ ในอนาคตที่ยังค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่การลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. ปริมณฑล

ด้านภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2563 พบว่า เศรษฐกิจ ไทยเดือนตุลาคม มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

โดยเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลง และจากฐานสูงในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวก คือ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ อาทิ หมวดที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

shutterstock 206345416

ด้านเครื่องชี้ เศรษฐกิจ ไทย ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยหนุนอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภค ช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ และเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์

“สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะติดลบน้อยกว่าไตรมาสอื่นที่ผ่านมา จากแรงกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo