Economics

ย้ำอีกครั้ง!! ‘คนละครึ่งเฟส 1’ รีบใช้สิทธิให้หมดภายใน 31 ธ.ค.

คนละครึ่งเฟส 1 “กระทรวงการคลัง” ย้ำ! หากต้องการลงทะเบียนใช้สิทธิเฟส 2 ต้องใช้สิทธิเฟสแรกให้หมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พร้อมแจงข้อท้วงติงโครงการ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังได้เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการคนละครึ่งว่า ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8.5 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9,493,942 คน โดยมียอด การใช้จ่ายสะสม 28,609 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 14,599 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 14,010 ล้านบาท

จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียน คนละครึ่งรอบเก็บตก เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 และได้รับ SMS ยืนยันสิทธิแล้ว ขอให้รีบติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” พร้อมยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย โดยขอให้เริ่มใช้สิทธิในการใช้จ่ายโดยเร็วภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

แจกเงิน 3000 ๒๐๑๑๑๗ 0

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารกรุงไทย ได้มีการติดตาม และตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยได้ระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่งอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งมีการนำส่งข้อมูลหลักฐาน การกระทำความผิดให้แก่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อใช้สำหรับการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

จึงขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ และอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ที่เป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไขโดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปด้วย

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญ คือ กลุ่มที่ลงทะเบียน คนละครึ่งเฟส 1 สำเร็จ และได้เริ่มใช้สิทธิแล้ว จะต้องใช้สิทธิคนละครึ่งให้หมดภายใน 31 ธันวาคม 2563 จึงจะสามารถเข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 2 ได้

  • แจงความเห็นต่อโครงการคนละครึ่ง 

นายพรชัย กล่าวอีกว่า จากการที่มีผู้ให้ความเห็น ต่อโครงการคนละครึ่งว่า เป็นโครงการที่ดี ที่มีการออกแบบมาให้ผู้ได้รับประโยชน์เป็นร้านค้าขนาดเล็ก และให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ข้อจำกัดของโครงการ คือ ประชาชนลงทะเบียนไม่ทัน และผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนไม่สามารถเข้าถึงโครงการได้นั้น

กระทรวงการคลัง ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับการดูแลผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับ 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับ 200 บาทต่อเดือน

คนละครึ่งเฟส
นายพรชัย ฐีระเวช

นอกจากนี้ ยังได้รับวงเงินสำหรับค่าโดยสารเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น กว่า 1,500 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจไทยและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง รัฐบาล จึงมีมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากโครงการคนละครึ่ง ที่มีกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้มีรายได้ที่พอจะมีกำลังซื้อมาร่วมจ่ายกับรัฐแล้ว

ยังมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มดังกล่าว ประมาณ 14 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญด้วย

สำหรับโครงการคนละครึ่ง มีระบบการใช้จ่ายด้วยแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่มีการยืนยันตัวตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ ให้มั่นใจว่า ไม่มีผู้อื่นมาใช้สิทธิแทน และมีการใช้จ่ายจริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งระบบดังกล่าว เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกระดับ จนถึงระดับฐานราก ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ Digital Society ไปพร้อม ๆ กัน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการลดการใช้เงินสด ทำให้การดำเนินโครงการโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับประเด็นข้อจำกัดอื่น ๆ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด

“กระทรวงการคลังมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้มีการดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการอื่น ๆ ของรัฐด้วย” รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo