Business

แกะงบหุ้น AOT งวดปี62/63 กำไรหายไปไหน?

แกะงบหุ้น AOT งวดปี 2562/2563 กำไรหายไปไหน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ส่งผลจำนวนเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารหายไปจำนวนมาก  

AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คือหุ้นที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นอับดับ 2 ของตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่ากว่า 960,000 ล้านบาท เป็นรองเพียง ปตท. บริษัทเดียวเท่านั้น 

แต่ปีนี้เป็นปีที่  AOT ประสบกับวิกฤติที่รุนแรงแบบไม่มีมาก่อน จนมูลค่าบริษัทไหลลงมาเรื่อยๆ เนื่องจากการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ทำให้มีมาตรการปิดประเทศ สายการบินหยุดบริการ กระทบต่อส่วนแบ่งรายได้สนามบินที่หดหายเช่นเดียวกัน วันนี้เราเลยสรุปผลประกอบงวดปี 2562/2563 ของ AOT มาให้ดูว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง?

AOT รายได้หายกว่า 3 หมื่นล้าน 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า AOT มีการปิดงบปี ณ สิ้นเดือนกันยายนของทุกปี ดังนั้นผลประกอบการงวดนี้ของ AOT จะคาบเกี่ยวโดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562- กันยายน 2563 นั่นเอง

ผลประกอบการปี 2562/2563 บริษัทมีรายได้รวม 33,275 ล้านบาท ปรับลดลง 95.31% เมื่อเทียบกับงวดปีก่อนที่มีรายได้ 64,994 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเหลือเพียง 4,320 ล้านบาท ปรับลดลง 82.73% เมื่อเทียบกับงวดปีก่อนที่มีกำไร 25,026 ล้านบาท เรียกว่าเป็นปีที่ AOT มีผลงานแบบน่าใจหาย แม้ในงวดปีนี้ AOT จะ ยังไม่ได้ขาดทุน แต่การที่กำไรหายไปกว่า 20,000 ล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก 

cover AOT กำไรหายไปไหน

รายได้ AOT หายไปไหน ?

AOT มีรายได้หลักๆ มาจาก 2 ช่องทาง ได้แก่ 

1. รายได้จากธุรกิจการบิน คิดเป็นสัดส่วน 53% ของรายได้รวม  เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของสายการบิน, ค่าบริการผู้โดยสารและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะแปรผันตามจำนวนเที่ยวบินและนักท่องเที่ยว เริ่มกันที่รายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน AOT ทำได้ 16,625 ล้านบาท ลดลง 52% เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ( สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต และแม่ฟ้าหลวง) ที่หายไปอย่างมาก รวมถึงจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563

สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีจำนวนเที่ยวบินรวม 515,185 เที่ยวบิน ลดลง 42.51% ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 72.64 ล้านคน ลดลง 48.80% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน 

2. รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน คิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวม เช่น ค่าเช่าจากบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจกับสนามบินของ AOT, รายได้ค่าบริการ, รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ อาทิ ส่วนแบ่งรายได้จาก King Power เป็นต้น มองกันที่รายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินบ้าง โดย AOT ชี้แจ้งว่ายอดรายได้ดังกล่าวลดลง 47% จากงวดปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าสำนักงาน และอสังหาริมทรัพย์ รายได้ที่เกี่ยวกับบริการ และรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ที่ปรับลดลงทั้งหมด ตามจำนวนผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการภายในสนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และธุรกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เนื่องจาก AOT มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยนั่นเอง

เปิดผลกำไร AOT ย้อนหลัง 10 ปี 

หากย้อนดูสถิติ AOT ในรอบ 10 ปี พบว่ามีเพียง 2 ปีเท่านั้น ที่ไม่สามารถทำกำไรเติบโตได้ นั่นคือปี 2557 ที่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และล่าสุดในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

29NOV กำไรAOT

AOT ถือเป็นกรณีศึกษาของการลงทุนในตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะแม้ AOT จะดูเป็นผู้ให้บริการสนามบินรายใหญ่รายเดียวของประเทศไทย และฐานะการเงินก็แข็งแกร่ง หนี้น้อย ที่สำคัญกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% เรียกว่ามองมุมไหนก็แกร่งสุดๆ 

ทว่าเพียงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหนึ่งเรื่อง กลับทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าประเทศไทยและประเทศที่เกี่ยวข้องกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ก็รับรองว่า AOT จะเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์เป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight