Environmental Sustainability

มือถือเก่า ปีละ 14 ล้านเครื่อง ดีแทคชวน ‘ทิ้งให้ดี’ ป้องกันเป็นภัยทำร้ายมนุษย์

มือถือเก่า ปีละ 14 ล้านเครื่อง ไปอยู่ที่ไหน ดีแทค ชวน ทิ้งให้ดี ที่ดีแทค นำกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลถูกวิธี อย่าให้กลายเป็นขยะทำร้ายมนุษย์

ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือมากถึง 93.7 ล้านเบอร์ และทุก ๆ ปีจะมีโทรศัพท์มือถือใหม่จำหน่ายออกสู่ตลาดปีละประมาณ 14 ล้านเครื่อง โดยสัดส่วนราว 100,000 เครื่องต่อปี เป็นส่วนของผู้ใช้มือถือครั้งแรก และอีกประมาณ 14 ล้านเครื่องต่อปี เป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ใช้มือถือเดิม ทำให้เมืองไทยมี มือถือเก่า ปีละ 14 ล้านเครื่อง

มือถือเก่า

ทั้งนี้ ยอดขาย 14 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของประชากรไทย แล้วโทรศัพท์มือถือเก่าราว 14 ล้านเครื่องต่อปี ที่ถูกทดแทนที่ขายออกไปใหม่ในทุกปีนั้น ไปอยู่ที่ไหนบ้าง

นายพีระพล ฉัตรอนันทเวช หรือ ปีเตอร์กวง ผู้อำนวยการแผนกอุปกรณ์สื่อสาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ นับเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่มีการเติบโตและมียอดขายสูงมากกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ มาก ขีดความสามารถในการใช้งานก็สูงขึ้นในทุก ๆ ปี เนื่องด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 130% ของประชากรไทย คือมีจำนวนเลขหมายเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกใช้มากกว่าจำนวนประชากรไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจที่บางคนมีโทรศัพท์มือถือใช้งานถึง 2 เครื่อง 2 เลขหมายด้วยกัน หรืออาจจะเป็น 1 เครื่อง 2 เลขหมายก็มี

แต่ในการเติบโตนั้น ก็มาพร้อมกับ “ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม” ที่สูงขึ้น เนื่องจากอายุการใช้งานที่ลดลงเหลือ 18-24 เดือนต่อเครื่อง ขณะที่อดีต อายุการใช้งานอยู่ที่ 24-36 เดือน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านแฟชั่นนิยมและการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีการเปลี่ยนเครื่องใหม่เร็วกว่าสมัยก่อนมาก (รุ่นที่มีราคาสูงกว่าหมื่น) ขณะที่เซ็กเมนต์ที่มีราคาต่ำกว่าหมื่นจะมีพฤติกรรมการใช้งานที่นานกว่า เน้นอรรถประโยชน์มากกว่าความสวยงาม

“ตลาดโทรศัพท์มือถือมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการแข่งขันสูงมาก แต่ละแบรนด์มีการออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ รวมกันปีละนับร้อยรุ่น ทำให้อายุของผลิตภัณฑ์ (shelf life) ของโทรศัพท์มือถือเหลืออยู่เพียง 6 เดือนจากเดิม 12 เดือน แสดงให้เห็นถึงปริมาณการบริโภคโทรศัพท์มือถือใหม่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การจัดเก็บ มือถือเก่า ที่ไม่ใช้แล้วยังคงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” นายพีระพล กล่าว

dtac Think Hai d 002

ชำแหละอุปกรณ์มือถือ

ปัจจุบันตลาดโทรศัพท์มือถือจะมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ถูกนำออกสู่ตลาดปีละนับร้อยรุ่น องค์ประกอบโดยรวมของชิ้นส่วนภายในเครื่องแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่

1. Main board หรือ PCB (Printed Circuit Board) เป็นส่วนประกอบหลักโทรศัพท์มือถือที่มีชิ้นส่วนหลักๆมากมายประกอบกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น CPU (หน่วยประมวลผล) ทำหน้าที่คำนวณ ประมวลผล สั่งการ เพื่อเก็บข้อมูลและเป็นพื้นที่ให้ใช้ในการร่วมประมวลผลต่าง ๆ และยังมีอีกมากมายหลายชิ้นส่วน

ชิ้นส่วนเหล่านี้ ผลิตจากแร่มีค่าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว เงิน แพลเลเดียม ซิลิคอน เป็นต้น โดยแร่มีค่าเหล่านี้ มีบทบาทในการสร้างเป็น ชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในการเหนี่ยวนำทางเดินของวงจรไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้หากได้รับการแยกด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง

2. หน้าจอ (Display) เป็นส่วนที่ผู้ใช้งานสัมผัสมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมาร์ทโฟนที่กระบวนการสั่งการดำเนินผ่านหน้าจอแบบ LCD หรือแบบ OLED ทั้งนี้ จอ LCD หรือ OLED นั้นมีส่วนประกอบเป็น “ผลึกเหลว” (Liquid crystal) สลับชั้นกับแผ่นแก้ว ซึ่งมีเคมีที่มีความเป็นพิษอยู่ด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดี จะส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมขึ้นได้

Tea and talk 1

3. เเบตเตอรี่ (Battery) เป็นชิ้นส่วนที่ให้พลังงานไฟฟ้าแก่โทรศัพท์มือถือของเรา ปัจจุบัน ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาให้แบตเตอรี่แบบลิเธียมอิออน (Lithium-ion) หรือ ลิเธียมโพลีเมอร์ (Lithium-Polymer) ที่เพิ่มความจุของพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม ชาร์จได้ไวขึ้น ทำให้โทรศัพท์มือถือยุคหลังมีขนาดเล็กลงเบาขึ้นและอายุการใช้งานในแต่ละครั้งนานขึ้น

4. ตัวเครื่อง (Body) เป็นโครงสร้างหลัก มีตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นที่ผลิตจากพลาสติกแบบ PC+ABS อลูมิเนียม แสตนเลสสตีล กระจก ไปจนถึงโลหะไทเทเนียม ซึ่งนอกจากให้เรื่องความทนทานแล้ว ยังช่วยเสริมในแง่ของความสวยงามและภาพลักษณ์ของผู้ใช้งาน

 

มาตรฐาน RoHS เช็คลิสต์ที่ควรรู้

จากปริมาณโทรศัพท์มือถือใหม่ที่ออกสู่ตลาดปีละ 14 ล้านเครื่องในประเทศไทย และนับร้อยล้าน นับพันล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในฐานะ “ต้นทาง” ต่างให้ความสำคัญกับ มาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม มากขึ้น

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือได้ยึดมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ของสหภาพยุโรป ว่าด้วยเรื่องการใช้สารที่เป็นอันตราย ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดสารประกอบเพื่อผลิตเป็นโทรศัพท์มือถือ

สำหรับ สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องผ่านมาตรฐาน RoHS ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 และได้เพิ่ม 4 สารต้องห้ามในปี 2019 เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว

มือถือ

 

ทั้งนี้ สารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 10 ชนิด ดังนี้

1. ตะกั่ว (Pb) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

2. ปรอท (Hg) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

3. แคดเมียม (Cd) ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก

4. เฮกซะวาเลนท์ โครเมียม (Cr-VI) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

5. โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

6. โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

7. พาทาเลต Bis(2-Ethylhexyl) phthalate (DEHP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

8. เบนซิล บูทิล พาทาเลต (Benzyl butyl phthalate (BBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

9. ไดบูทิล พาทาเลต (Dibutyl phthalate (DBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

10. ดิโซบูทิล พาทาเลต (Diisobutyl phthalate (DIBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก

สินค้าที่ผ่านมาตรฐาน RoHS จะมีสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร Pb คาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีการระบุคำว่า RoHS compliant หรือ Pb-Free อยู่บนสินค้านั้น ๆ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเอง ก็มีความตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ผู้บริโภคในฐานะปลายทางของ value chain ก็มีความจำเป็นในการตระหนักรู้ถึงผลกระทบหากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้แล้วนั้น ไม่ได้รับการจัดเก็บและคัดแยก เพื่อทิ้งอย่างเหมาะสม เพราะสุดท้ายผลกระทบก็จะตกที่ผู้บริโภคเอง

OPPO มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

นายสุทธิพงศ์ อมรประดิษฐ์กุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท ออปโป้ ไทยแลนด์ กล่าวว่า OPPO มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนาทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวเครื่อง การใช้วัสดุอุปกรณ์ การออกแบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์

เห็นได้จากการที่ OPPO มีฐานการผลิตและทีมงานด้าน R&D ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เซินเจิ้น ตงกวน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซิลิคอนวัลเล สหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ OPPO มีนโยบายในการลดการใช้พลาสติกในกระบวนการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้เริ่มนโยบายดังกล่าวในตลาดยุโรปก่อน โดยมีการเปลี่ยนถาดรองอุปกรณ์ในกล่องมือถือเป็นกระดาษ พลาสติกบรรจุห่อสายชาร์จหรือกล่องพลาสติกใส่หูฟังถูกปรับมาใช้กระดาษจากธรรมชาติ ได้แก่ เยื่อไม่ไผ่ ซึ่งสามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่าย จากนโยบายดังกล่าว ช่วยให้ OPPO Reno4 สามารถลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 93% เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบเดิม

นอกจากนี้ OPPO ยังได้ใช้มาตรฐาน RoHS ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก ซึ่งทำให้ขนาดขิปเซ็ตมีขนาดเล็กลง ลดปริมาณการใช้แร่หายากในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับ MediaTek ที่สามารถผลิตชิปเซ็ตขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งมีการติดตั้งในรุ่น Reno4 Z ในปัจจุบัน ความร่วมมือกับ Snapdragon ซึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมชิปเซ็ตขนาด 5 นาโนเมตรสำหรับ Snapdragon 875

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศความร่วมมือกับ Qualcomm ที่ในการเป็นพันธมิตรเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีไว้ในงาน WMC 2019 และจะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีชิปเซ็ตล่าสุดงาน Tech Summit Digital 2020 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม นี้ ที่เมืองซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา

Tea and talk 3

เทรนด์ออกแบบผลิตภัณฑ์ สู่ Circular Economy

นางสาวกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ร่วมก่อตั้ง Fab Cafe กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ในอดีต มักคำนึงถึงความทนทานเป็นหลัก จึงมีการใช้วัสดุที่แข็งแกร่ง แต่อาจมีราคาแพง

แต่ด้วยปัจจัยทางการตลาดที่กระตุ้นให้มีการซื้อถี่ขึ้น ปัจจัยด้านแฟชั่นนิยมของลูกค้า ทำให้เทรนด์การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำลง ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดรับกับแนวคิด Circular Economy

Circular Economy คือ แนวคิดของระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องการหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนครบเกิดเป็นวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้า อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งระบบเศรษฐกิจเอง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าของสินค้ารายใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับ Circular Economy มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือ ต้นทุนของวัตถุดิบที่ได้มาจากการรีไซเคิล มีราคาแพงกว่าวัตถุดิบบริสุทธิ์ อยู่มาก ทำให้การปรับใช้แนวคิด Circular Economy ในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยากในสินค้าทั่วไป

ทั้งนี้ ภาครัฐและผู้กำกับนโยบายทางสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันแนวคิด Circular Economy ให้เกิดขึ้นผ่านการออกนโยบายสนับสนุน (Subsidy measures) โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวจะต้องมองให้ครอบคลุมทั้ง value chains ของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต ตลอดจนการจัดเก็บ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนจัดหาวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง

dtac Think Hai d 06
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์

“ทิ้งให้ดี” ที่ดีแทค

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือ ล้วนประกอบไปด้วยสารประกอบ ทั้งที่รีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ กระบวนการจัดเก็บและการคัดแยก ดีแทคในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนของการบริโภคโทรศัพท์มือถือ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ “ทิ้งให้ดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามสู่เป้าหมาย Zero Landfills หรือลดการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2565

โดยลูกค้าดีแทคสามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ ตามเว็บไซต์ https://dtac.co.th/sustainability/ewaste/

“ดีแทคส่งเสริมให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง มุ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นางอรอุมา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo