Economics

สศค.มั่นใจแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ดีขึ้น คาดติดลบน้อยสุด!

เศรษฐกิจไทย เดือนตุลาคมทรงตัว “สศค.” ชี้ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวในภาพรวม มั่นใจแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ดีขึ้น เชื่อติดลบน้อยสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2563 พบว่า เศรษฐกิจไทย เดือนตุลาคม มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

โดยเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลง และจากฐานสูงในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวก คือ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น

เศรษฐกิจไทย

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ อาทิ หมวดที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยหนุนอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภค ช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ

รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวอีกว่า สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ และเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์

“สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะติดลบน้อยกว่าไตรมาสอื่นที่ผ่านมา จากแรงกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น” รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าว

เศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ สศค. ได้เผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า

ดัชนี RSI เดือนพฤศจิกายน 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของภาคใต้ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังค่อนข้างทรงตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 70.5 แสดงถึงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 จากปัจจัยสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมและ ภาคเกษตรกรรม โดยในภาคอุตสาหกรรม คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาคเกษตรกรรม คาดว่า จะมีการเก็บเกี่ยวปาล์มเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีแนวโน้มความต้องการยางพาราในการผลิตถุงมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ มากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เช่น การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการส่งเสริมไบโอดีเซล เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 69.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีภาคเกษตรและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวม อาทิ ข้าว ยางพารา และ สับปะรด มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ

ประกอบกับมีการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 65.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก

เนื่องจาก คาดว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมากขึ้นจากทั้งความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 62.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมด้านเงินทุนและการพัฒนาด้านการผลิตซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 62.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวและมีนโยบายจากภาครัฐในการขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ 56.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการเกษตร เนื่องจากคาดว่า รัฐบาลจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคเกษตรกรรม คาดว่า สภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่การลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตั

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo