Digital Economy

เรื่องเล่าจาก ‘เมาท์เทน เฮเซลนัท’ เมื่อ Digital Disruption บุกภูฏาน

ดร.ฮาว แอล. ลี
ดร.ฮาว แอล. ลี

ใครที่กำลังคิดถึงเรื่องการประยุกต์ใช้ดิจิทัลกับการเกษตร เรื่องราวของ ‘เมาท์เทน เฮเซลนัท’ เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ดี โดยเรื่องราวของการปลูกเฮเซลนัทบนเทือกเขาอย่างประเทศภูฏานครั้งนี้ได้รับการกล่าวถึงโดย ดร. ฮาว แอล. ลี (Hau L. Lee) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บนเวที Academy for THAIs กับเรื่องเล่าของผู้ชายธรรมดา ๆ ที่ไม่ธรรมดาชื่อ “เดเนียล สไปเซอร์” (Daniel Spitzer) ที่มองเห็น และสร้างโอกาสให้เฮเซลนัทบนเทือกเขาได้เติบโตในระดับโลก

โดยก่อนจะเป็นสวนเฮเซลนัทที่สร้างรายได้ให้กับชาวภูฏาน เดเนียล พบว่าตลาดจีนเริ่มมีความต้องการเฮเซลนัทเพื่อการบริโภคมากขึ้น ทว่า แหล่งผลิตเฮเซลนัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือตุรกี ซึ่งกำลังผลิตนั้นไม่น่าจะเพียงพอต่อตลาดจีนได้ แถมการขนส่งก็ยังใช้เวลานาน เมื่อศึกษาลงไปมากขึ้น เขาได้พบว่า พื้นที่อย่างประเทศภูฏาน ก็เป็นอีกหนึ่งชัยภูมิที่เหมาะกับการปลูกเฮเซลนัทเช่นกัน เขาจึงก่อตั้งบริษัท เมาท์เทน เฮเซลนัท และเริ่มมองหาโมเดลธุรกิจที่น่าจะตอบโจทย์ทุกฝ่าย

โดยโมเดลแรกที่เขามองไว้นั้นคือการซื้อที่ดินสำหรับปลูกเฮเซลนัท แต่พิจารณาแล้วต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก สุดท้ายโมเดลนี้ได้ถูกตัดทิ้งไป เปลี่ยนเป็นการให้เกษตรกรซื้อต้นกล้า ที่เขาตั้งราคาไว้ที่ต้นละ 1 ดอลลาร์ เมื่อเกษตรกรปลูกจนโตพอ เขาจะกลับมารับซื้อผลผลิต โมเดลนี้ดูน่าจะเป็นไปได้ แต่ปัญหาก็ตามมาอีก เพราะเกษตรกรไม่ทราบว่าจะปลูกอย่างไร จึงไม่ยอมซื้อต้นกล้า สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาเป็นโมเดลที่เขาใช้เทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรในการปลูก และมีอินเซนทีฟให้กับเกษตรกรด้วยการนำ 25% ของกำไรส่งกลับมาให้เกษตรกรในท้องถิ่นนั้น ๆ

โมเดลนี้ได้ผล โดย เมาท์เทน เฮเซลนัทของเดเนียล สไปเซอร์ เลือกที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับตรวจวัดค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของต้นเฮเซลนัทให้กับเกษตรกร เพื่อให้เมาท์เทน เฮเซลนัทที่อยู่ไกลออกไป สามารถมอนิเตอร์การเจริญเติบโตของต้นเฮเซลนัทได้แม้ไม่ได้ลงพื้นที่เอง และทราบว่าเวลาใดควรใส่ปุ๋ย เวลาใดควรระวังโรคที่จะเกิดกับต้นเฮเซลนัท

Mountain Hazelnuts
ขอบคุณภาพจาก Mountain Hazelnuts

แถมเกษตรกรยังได้รับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เอาไว้กับตัวคนละหนึ่งเครื่อง โดยพวกเขาสามารถใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพอาการต่าง ๆ ของต้นเฮเซลนัทส่งไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของบริษัทได้ หรือจะเอาไว้ถ่ายภาพลูก ๆ ในครอบครัวก็ยังได้

ผลก็คือ ไม่เพียงบริษัทสามารถติดตามการเจริญเติบโตของเฮเซลนัทได้ ลูกค้าของบริษัทก็สามารถเห็นข้อมูลเหล่านี้เช่นกัน และกลายเป็นว่าระบบของเมาท์เทน เฮเซลนัทสร้างความโปร่งใสในการซื้อขายและการผลิตให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

การมีระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ ไม่เพียงแต่มอนิเตอร์การเติบโตของสวน แต่ยังสามารถสร้าง “รายงาน” ได้แบบเรียลไทม์ และผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลกก็สามารถรับรู้และเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

สุดท้ายคือเรื่องของโลจิสติกส์ การปลูกบนเทือกเขา จำเป็นต้องมีระบบการจัดส่งต้นอ่อน และการเก็บผลผลิตไปจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ บริษัทได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับภูฏานขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงได้อย่างน่าพอใจ

โดย ดร.ฮาว มองว่า นี่คือแนวทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจในยุคดิจิทัล กับการหาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์มากที่สุด และไม่ล้มเลิกหากโมเดลแรกไม่สำเร็จ เหมือนเช่นที่เมาท์เทน เฮเซลนัทต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์เกษตรกรของภูฏานมากที่สุด นอกจากนั้น ยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดึงผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ไกลออกไป ให้มาเจอกับเกษตรกรที่หน้างานโดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่สมาร์ทโฟน และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งกรณีเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้นแน่นอน ในโลกยุคต่อไป อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มมองและศึกษาความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กันหรือยัง

Avatar photo