Digital Economy

10 ประเด็นชวนคิดจาก ‘Academy for THAIs’

 

181003 Pic ACADEMY for THAIs 6

เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับแนวคิดเรื่อง Academy for Thais ของเอไอเอสที่ร่วมกับพันธมิตร และสถาบันระดับโลกจัดงานสัมมนาขนาดยักษ์เพื่อเตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับโลกของ Digital Disruption

โดยภายในงาน ได้มีภาคเอกชนซึ่งเป็นพันธมิตรของการจัดงานครั้งนี้มาร่วมแชร์วิสัยทัศน์ในยุค Disruption กันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC และนางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความตระหนักกันอย่างมากเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัล อันเปรียบได้กับสึนามิที่จะพัดพาเข้ามา และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สึนามินั้นจะพัดพาสิ่งใดไปบ้าง และจะเหลือสิ่งใดอยู่บ้าง ดังนั้น การเตรียมตัวที่ภาคเอกชนได้เริ่มลงมือกันแล้ว และถือเป็นประเด็นที่น่าคิดสำหรับสังคมไทยในยุคต่อไปจึงประกอบด้วย

1. Digital Transformation ไม่ใช่แฟชั่น

การเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาทำให้คำศัพท์ Digital Transformation ถูกกล่าวถึงจนเกร่อก็จริง แต่ในมุมของนางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรมมองว่า คำว่า Digital Transformation ยังเป็นการพูดแค่เฉพาะกลุ่ม และต้องมีการยกระดับความรู้ออกไปสู่ประชาชนในระดับประเทศอย่างจริงจัง

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม
นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม

2. เรื่องของขนาดองค์กร และเงินไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้องค์กรได้เปรียบอีกต่อไป

ยุคที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่เคยเป็นองค์กรที่ได้เปรียบในเรื่อง Economy of Scale (ผลิตสินค้าในปริมาณมาก ๆ และได้ต้นทุนต่อหน่วยที่ถูก) แต่ในยุคต่อจากนี้ จะมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จำเป็นต่อการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น ข้อมูล โดยผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอินไซต์ของลูกค้า และผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการออกมาได้แบบ Personalized มากที่สุดจะเป็นผู้ได้เปรียบมากกว่า

3. ต้องมองเทคโนโลยีในแง่บวกให้ได้

สำหรับหลายคนที่กำลังมองเทคโนโลยี หรือเอไอว่าเป็นตัวเข้ามาแย่งงาน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองมุมต่าง โดยชี้ว่า ต้องหาทางมองเทคโนโลยีในเชิงบวกให้ได้ จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย

4. อย่าเหมือนใคร และอย่าทำได้เท่าเอไอ

การสร้างธุรกิจในยุคต่อไป สิ่งที่นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ การอย่าเหมือนใคร การหาบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกข้อคืออย่าทำได้เท่าเอไอ จุดแข็งของมนุษย์ในยุคต่อไปคือต้องเข้าไปควบคุมการทำงานของเอไอให้ได้

5. การแข่งขันในยุค Borderless คือการเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าให้ได้

ตอนนี้ทุกธุรกิจมีโอกาสเป็นคู่แข่งกันทั้งหมด ธนาคารไทยเองก็อาจมีคู่แข่งที่ไม่ใช่ธนาคาร แถมมาจากต่างชาติด้วย เนื่องจากเส้นแบ่งมันเบลอไปหมดแล้ว ดังนั้น สิ่งที่นางสาวขัตติยามองว่าสามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ก็คือ การทำให้บริการเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน แต่จะทำอย่างไรให้บริการของธุรกิจสามารถตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิตของลูกค้าได้ เป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องหาคำตอบเอาเอง เนื่องจากบริบทของแต่ละองค์กรนั้นแตกต่างกัน

6. เตรียมตัวเปลี่ยนเผ่าพันธุ์

ข้อนี้มาจากนางสาวกานติมาที่ชี้ว่า Digital Transformation คือการเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ พนักงานที่มีทักษะเดิม ๆ จะไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ยุคอนาคตได้ ดังนั้น องค์กรต้องเริ่มสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานพร้อมที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน ไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่เคยเชื่อ หรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

7. ล้มได้ และลุกให้ไวที่สุด

ขณะที่นางสาวขัตติยา ชี้ว่า บรรยากาศภายในองค์กรต้องเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมด้วย เนื่องจากโลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น ต้องกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรลุกออกมาทำสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงยอมรับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นทำลายองค์กร

นางปัทมาวลัย รัตนพล
นางปัทมาวลัย รัตนพล

8. คิดถึงคนทุกครั้งในการใช้เทคโนโลยี

หลายครั้งที่เทคโนโลยีที่องค์กรคิดมาเสียดิบดีว่าจะ Transform ธุรกิจได้กลับกลายเป็นค่าใช้จ่าย เนื่องจากตอนที่ออกแบบ ทีมงานลืมคิดถึงเรื่องคน ในจุดนี้ นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เผยว่า หากไม่คิดถึงการใช้งานของผู้บริโภคเอาไว้ตั้งแต่ต้น สุดท้ายบริการนั้น ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ ไม่มีคนใช้งาน และกลายเป็นค่าใช้จ่ายขององค์กรไปในที่สุด ดังนั้นฝ่ายไอที ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโซลูชันต้องคิดถึงคนใช้งานมาเป็นอันดับแรก

9. มนุษย์เรามีแค่สองวัน

ในโลก Digital Transformation อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์มีแค่สองวัน นั่นคือวันที่ดี กับวันที่ร้าย โดยในมุมของนางปัทมาวลัย ชี้ว่า แง่คิดนี้มาจากแวดวงสตาร์ทอัพ วันที่ดีคือวันที่เราไปฟังสัมมนาแล้วรู้สึกยาก แย่ เหนื่อย ส่วนวันไหนที่เรารู้สึกชิล ๆ ทำได้สบาย ๆ อันนั้นคือวันร้าย ซึ่งการคิดให้ได้แบบสตาร์ทอัพคือสิ่งที่คนไทยจำเป็นต้องมี และธุรกิจจำเป็นต้องให้สิ่งที่ถูกต้องกับคนของตัวเอง ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานของเรา แกร่ง อึด และสู้ต่อความยากลำบากให้ได้

นายสาระ ล่ำซำ
นายสาระ ล่ำซำ

10. อย่าทำทุกเรื่อง

ข้อคิดสุดท้ายมาจากนายสาระ ล่ำซำ ที่มองว่า สุดท้ายแล้ว ธุรกิจจะไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้นต้องพยายามจัดกลุ่มสิ่งที่จะทำออกมา และขีดทิ้งบางเรื่องที่ไม่ใช่ออกไป เพื่อจะได้โฟกัสในสิ่งที่ต้องทำจริง ๆ นั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแง่คิดจำนวนมากที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดความตระหนักในสังคมไทย เพื่อรองรับการมาถึงของยุคดิจิทัล โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูล และบริการที่เราจะพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคตให้ได้ และทั้งหมดนี้กำลังทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไป ส่วนจะช้าหรือเร็ว และจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดนั้น อีก 3 – 5 ปีนับจากนี้ เราคงได้เห็นภาพนั้นชัดมากขึ้น

Avatar photo