General

9 จังหวัดนำร่อง ใส่หมวกกันน็อก 100% สานเป้าหมาย ‘ตำบลขับขี่ปลอดภัย’

ใส่หมวกกันน็อก 100% สสส. ผนึกพันธมิตร นำร่อง 9 จังหวัดนำร่อง หวังลดผู้เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า 10 ปี ตาย 12 คนต่อประชากรแสนคน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) 9 จังหวัด ได้ร่วมมือกันในโครงการนำร่อง ใส่หมวกกันน็อก 100%

ใส่หมวกกันน็อก

จากสถานการณ์ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนถนน ของประเทศไทย พบว่า ลดลงจาก 21,745 ราย ในปี 2559 เหลือ 19,904 ราย ในปี 2562 และในปีนี้ มีแนวโน้มลดลง จากผลของมาตรการต้านโควิด-19

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 16,000 ราย แต่หากมองในระยะยาวตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบความสูญเสียจากการใช้รถกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว โดยแต่ละปีมีประชากรวัยเรียน และวัยทำงาน เสียชีวิตกว่า 10,000 คน มีผู้พิการถาวรมากกว่า 5,000 คน ดังนั้น การแก้ปัญหา จึงควรสร้างความเข้มแข็ง ในระดับชุมชน ร่วมกับจุดแข็งด้านสาธารณสุข

สำหรับการลงนามดังกล่าว เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจ โครงการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน จากจังหวัดสู่อำเภอและตำบล ปี 2563-2565 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัยของรัฐบาล โดยจะเริ่มนำร้องใน 9 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, จันทบุรี, เชียงราย, ยโสธร, ระยอง, สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี

นิพนธ์ บุญญามณี
นิพนธ์ บุญญามณี

การดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เพื่อให้ 9 จังหวัดนำร่อง บรรลุผลในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ดังนี้

1. ลดการเจ็บ-ตายจากการขับขี่ เน้นการสวมหมวกนิรภัย 100%

2. พัฒนาศูนย์เด็กทุกแห่ง เพื่อบ่มเพาะวินัยความปลอดภัยบนถนน และส่งต่อให้สถานศึกษา ในระดับที่สูงขึ้น

3. แก้ปัญหาถนนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะบนถนนท้องถิ่นที่ยาวถึง 600,000 กิโลเมตร

4. สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ลดพฤติกรรมเสี่ยง ด้วยพลังของคนในท้องถิ่น ท้องที่ ทั้งการตั้งด่าน การเอาจริงกับกติกาชุมชน

ทั้งนี้ หากทำสำเร็จ จะทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตลดได้ปีละ 5-10% และในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ จะสามารถบรรลุเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนถนน ให้เหลือไม่เกิน 12 คน ต่อประชากรแสนคน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนถนน 31 คนต่อประชากรแสนคน

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของไทย ตามนโยบาย ศปถ. โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นแก้ไขปัญหา การเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และการแก้ไขจุดเสี่ยง ในระดับอำเภอ และลงลึกถึงระดับตำบล

ขณะที่ปีนี้ สสส. ได้สนับสนุน “โครงการพัฒนากลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนน ระดับจังหวัด สู่อำเภอและตำบล” ที่สอดรับกับทิศทางนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ของรัฐบาล ใน 9 จังหวัด ซึ่งจะมีการหนุนเสริมองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพทีมงาน ระดับจังหวัดลงสู่อำเภอ ป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน ลงถึงระดับตำบล เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามเป้าหมายทั้ง 4 ข้อ

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. กล่าวว่า สอจร. เตรียมสร้างแกนนำในจังหวัดนำร่อง และจะขยายผลลึกลงไปสู่แกนนำอำเภอ และแกนนำตำบล ผ่านมาตรการองค์กรต่าง ๆ การแก้จุดเสี่ยงบนท้องถนน การตั้งด่าน และการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน โดยจะใช้ยุทธวิธีการขับเคลื่อน 5 ส 5 ช ได้แก่สหวิชาชีพ สุดเสี่ยง สารสนเทศ ส่วนร่วม สุดคุ้ม” และ “ชง ชวน เชื่อม ช้อน เช็ก”

ที่สำคัญคือ ต้องมีระบบการกำกับติดตามในทุกพื้นที่ เพื่อประเมินผลการทำงานตลอดระยะทาง ส่วนประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน เช่น การสวมหมวกนิรภัย การขับขี่รถจักรยานยนต์ และการสร้างวินัยในกลุ่มเด็กเล็ก เป็นต้น

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo