Lifestyle

ไทยสร้างพื้นที่ ‘ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า-ไข้หวัดนก’ ปักหมุดประเทศแรกในอินโดจีน

ไทยสร้างพื้นที่ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค ผนึกเครือข่าย เร่งขับเคลื่อน ทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ และสัตว์ป่า ประเทศแรกในอินโดจีน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว จัดประชุมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ไทยสร้างพื้นที่ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดนก ทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ และสัตว์ป่า

ไทยสร้างพื้นที่ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และโรคไข้หวัดนก ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

“ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นที่ทรงงานหนัก ประกอบกับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ปี 2563 นี้ ไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 3 ราย และสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ก็มีแนวโน้มลดลง”นายแพทย์โอภาส กล่าว

สำหรับสถานการณ์ โรคพิษสุนัขบ้าในไทย ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบผู้เสียชีวิต 11, 18 และ 3 ราย ตามลำดับ และปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 พฤศจิกายน 2563 พบผู้เสียชีวิต 3 ราย จาก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว หนองคาย และศรีสะเกษ ซึ่งผู้เสียชีวิตทุกราย มีประวัติถูกสุนัขที่ตนเลี้ยงไว้ กัดหรือข่วน โดยไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อทั้งสิ้น 206 ตัวอย่าง (คิดเป็น 3.16% ของตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด) แบ่งเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ 35% และไม่มีเจ้าของ 38.35% ขณะที่บางพื้นที่ไม่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี

44 1

ดังนั้น ทิศทางของการดำเนินงาน ป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะต่อไป จึงควรให้พื้นที่ที่ไม่พบโรค มีการประเมิน และรับรอง เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ ไปสู่พื้นที่ที่ยังพบการระบาดของโรค เพื่อให้ประเทศไทย เข้าสู่เป้าหมาย การเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขต่อไป

ทั้งนี้ นโยบายของกรมควบคุมโรค มี 4 ข้อ ดังนี้

1. เร่งรัดการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ผู้สัมผัสโรคทุกคน

2. สนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า ให้กับบุคลากร และอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยง

3. สนับสนุนความร่วมมือ ตามยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ของทุกกระทรวง

4. ร่วมมือประเมินพื้นที่ปลอดโรค โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ปลอดโรคฯ เพื่อให้เทศบาลและอบต. ใช้ในการประเมินตนเอง และขอรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรค

ขณะเดียวกัน จะค่อย ๆ เพิ่มพื้นที่ปลอดโรค จนครบทั่วประเทศ ซึ่งหากทำสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศแรกของภูมิภาคอินโดจีน ที่มีการประกาศ เป็นพื้นที่ปลอดโรค อย่างเป็นทางการ

66

ในส่วนของการเฝ้าระวัง และป้องกันควบคุม โรคไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับ กรมปศุสัตว์ มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” มีการประชาสัมพันธ์การป้องกัน โรคไข้หวัดนก ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนอย่างทั่วถึง

พร้อมกันนี้ ยังให้คำแนะนำ ผู้เดินทางไปยังพื้นที่ ที่มีรายงานผู้ป่วย หรือ สัตว์ปีกติดเชื้อ และพิจารณาซ้อมแผนเตรียมความพร้อม ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีเกิดการระบาดของ โรคไข้หวัดนก ระดับจังหวัด และชายแดน

นอกจากนี้ ยังได้คิดค้นและพัฒนา แอปพลิเคชัน “Farmer” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการเฝ้าระวังโรคผ่าน “Mr.ไข้หวัดนก” ของแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันควบคุม โรคไข้หวัดนก ถึงแม้ว่าจะไม่พบโรคนี้ในประเทศ มานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเสี่ยง ที่โรคนี้อาจกลับมาระบาดได้อีก

สถานการณ์ โรคไข้หวัดนก ช่วงที่มีการระบาดในประเทศไทย ระหว่างปี 2547-2549 พบว่ามีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็น 68% นับเป็นอัตราป่วยตายที่ค่อนข้างสูง กรมควบคุมโรค จึงมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายงานผู้ติดเชื้อ ในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ในประเทศไทย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต หลังจากปี 2549 ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการตามแนวทาง และมาตรการป้องกันควบคุม โรคไข้หวัดนก อย่างเข้มข้น และต่อเนื่องต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo