General

‘PM 2.5 ฝุ่นพิษ’ ปัญหาระดับชาติ รัฐบาลเคาะ 12 แผน 3 มาตรการ แก้วิกฤติ

PM 2.5 ฝุ่นพิษ ปัญหาระดับชาติ ครม.อนุมัติแผนปฏิบัติการฯ ปี 2563 รวม 12 แผน 3 มาตรการ ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างบูรณาการ

นางรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพต์เพจเฟซบุ๊ก “รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล” ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2563 เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 ฝุ่นพิษ รวม 12 แผน 3 มาตรการ โดยระบุว่า

PM 2.5 ฝุ่นพิษ

“ครม. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ.2563  และแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

ทั้งนี้ เป็นการทบทวนแผนปฏิบัติการฯ ที่ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเป็นการปรับปรุง และเพิ่มเติม แนวทางการดำเนินงาน จากแผนเดิม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สำหรับ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ปี 2563 ประกอบด้วย 3 มาตรการดังนี้

1. การเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยปรับปรุงแนวทางการกำหนดเกณฑ์ระดับปริมาณ PM 2.5 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด พื้นที่เสี่ยง สามารถพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันที โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ ภาคเหนือ 17 จังหวัด

2. การป้องกัน และลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง โดยเพิ่มการลด และควบคุมมลพิษ จากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรร มการเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมือง และภาคครัวเรือน เช่น การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สำหรับรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และ การส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผา เป็นต้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยเพิ่มเติมให้มีการพัฒนา เครือข่ายการติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในพื้นที่ พัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ ฐานข้อมูลสนับสนุนการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาจากไฟป่า และการเผาในที่โล่ง

การพัฒนาระบบเตือนภัย และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงพัฒนาการใช้งานแอปพลิเคชั่น และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น

PM 2.5 1

สำหรับแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง จัดทำขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติ ซึ่งมีสาระคัญดังนี้

  • การสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ตั้งศูนย์ข้อมูลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ War room ในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อบูรณาการและสื่อสารข้อมูล
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหา
  • บริหารจัดการเชื้อเพลิง ในพื้นที่ป่า 17 จังหวัดทางภาคเหนือ โดยการเก็บขน และใช้ประโยชน์เศษวัสดุในป่า
  • สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตาม เฝ้าระวัง และดับไฟ
  • เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ภายใต้ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน โดยกำหนดเป้าหมาย 12 จังหวัดภายในปี 2563 และ ครบ 76 จังหวัด ภายในปี 2570
  • เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพ การถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่า ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
  • การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน
  • ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563
  • พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอพพลิเคชันบัญชาการการดับไฟป่า โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563
  •  บริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยใช้แอพพลิเคชัน ลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง
  • ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่า ผ่านการจัดที่ดินทำกิน
  •  เจรจาสร้างความร่วมมือ กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองรายวัน ข้อมูลองค์ความรู้ ได้ที่ เฟซบุ๊ก “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ทาง https://www.facebook.com/airpollution.CAPM”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo