COVID-19

‘พาสปอร์ต โควิด’ กุญแจสำคัญ ฟื้นเดินทางโลก

 

กลุ่มล็อบบี้ ของสายการบินโลก “ไออาตา” เดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่จะช่วยให้ บรรดานักเดินทาง สามารถแสดงสถานะ “ปลอดโควิด” ของตัวเองได้ การเคลื่อนไหวล่าสุด ในการผลักดันวิธีการที่เรียกว่า  “พาสปอร์ต โควิด” เพื่อเร่งการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศ

“ทราเวล พาส” (Travel Pass) แอปพลิเคชันบนมือถือของ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) จะแสดงให้เห็นถึง ผลการตรวจหาเชื้อ ควบคู่กับหลักฐานการฉีดวัคซีน พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับ กฎข้อบังคับ ในการเดินทางเข้าไปยังประเทศต่างๆ และรายละเอียด ของที่ตั้งห้องทดลองที่อยู่ใกล้สุด

ทั้งยังจะเชื่อมต่อกับสำเนาพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ของเจ้าของ เพื่อพิสูจน์ตัวตนด้วย

พาสปอร์ต โควิด

ไออาตา ระบุว่า จะเริ่มทดสอบการใช้งาน พาสปอร์ต โควิด “ทราเวล พาส” กับ “ไอเอจี” บริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ส ในปีนี้ ก่อนที่จะเปิดใช้งานกับอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล อิงค์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 และใช้งานกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้าเป็นต้นไป โดยนักเดินทางสามารถแสดงสถานะของตัวเองให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองดู หรือเปิดเป็นคิวอาร์ โค้ด ให้สแกนข้อมูลได้

การเคลื่อนไหวนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ กำลังเริ่มต้นการทดสอบลดระยะเวลา หรือยกเลิกการกักโรค สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า วัคซีนตัวแรกที่จะผ่านการอนุมัติให้ใช้งานได้นั้น จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

อลัน มูร์เรย์ เฮย์เดน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ความปลอดภัย และผู้โดยสาร ของไออาตา ระบุว่า เป้าหมายของไออาตา คือ การทำให้ผู้คนกลับสู่การเดินทางทางอากาศอีกครั้งหนึ่ง และยินดีที่จะได้ทำงานร่วมกับผู้จัดหาโซลูชันรายอื่นๆ

เฮย์เดน บอกด้วยว่า ทราเวล พาส จะเป็นแอปที่ให้บริการฟรีทั้งกับนักเดินทาง และรัฐบาล โดยที่สายการบินจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนเล็กน้อย ต่อผู้โดยสาร 1 คน ที่ใช้บริการนี้

แอปพลิเคชันดังกล่าว พัฒนาขึ้นบน “ไออาตา ไทเมติค” ระบบการตรวจพิสูจน์เอกสารของไออาตา ที่ใช้กันมานานแล้ว ทั้งยังได้นำ เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ และจะไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลแต่อย่างใด

แม้ว่าแผนการของไออาตา จะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ก็มีแอปพลิเคชันทำนองเดียวกันนี้ กำลังทดสอบการใช้งานอยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึง “คอมมอนพาส” (CommonPass) ที่พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง “เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม” (World Economic Forum : WEF) กับมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร “คอมมอนส์ โปรเจ็ค” (Commons Project Foundation) ซึ่งกำลังทดสอบกับเที่ยวบินต่างๆ ในเส้นทางลอนดอน-นิวยอร์ก

นอกจากนี้ ยังมี เอโอเคพาส (AOKpass) ของ อินเตอร์เนชันแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทรักษาความปลอดภัยการเดินทาง โดยอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานในเส้นทางอาบูดาบี -ปากีสถาน

อาร์โนด์ เวสซี ผู้ร่วมก่อตั้งอินเตอร์เนชันแนล เอสโอเอส ระบุว่า ขณะนี้กำลังเกิดการแข่งขัน เพื่อสร้างมาตรฐานโลก และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อที่อุตสาหกรรมการเดินทาง จะสามารถกลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

พาสปอร์ต โควิด

เดินทางอากาศ ปลอดภัยแค่ไหน

ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศหยุดชะงักมานานหลายเดือน แต่ในเวลานี้มีผู้เริ่มตั้งคำถามว่า การเดินทางด้วยวิธีดังกล่าวมีความปลอดภัยพอหรือยัง

ผู้ประกอบการธุรกิจการบินยืนยันว่า การเดินทางทางอากาศมีความปลอดภัย ยืนยันได้จากรายงานที่อุตสาหกรรมการบิน ให้การสนับสนุนทางการเงิน ดำเนินการวิจัย ที่ชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสบนเครื่องบิน อยู่ในระดับต่ำมาก ถ้าทุกคนบนเครื่องสวมใส่หน้ากาก เนื่องจากระบบถ่ายเทอากาศ และเครื่องกรองอากาศของเครื่องบินมีประสิทธิภาพสูงมาก

รายงานดังกล่าวที่ร่วมกันจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยสาธารณสุข Harvard T.H. Chan แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภายใต้โครงการ Aviation Public Health Initiative ทำการประเมินความเสี่ยง ของการแพร่กระจายของโควิด-19 ระหว่างการเดินทางทางอากาศ สรุปความว่า ความเสี่ยงดังกล่าวต่ำมาก เมื่อมีการดำเนินมาตรการควบคุมหลายอย่างพร้อมๆ กัน ได้แก่

  • ควบคุมระบบวิศวกรรมของการถ่ายเทอากาศ ซึ่งเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ใช้อยู่แล้ว
  • บังคับให้ทุกคนบนเครื่องสวมใส่หน้ากาก ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง และภายหลังลงเครื่อง
  • ดำเนินการรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสารไว้เสมอ
  • ทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ภายในเครื่องบิน
  • คัดกรองผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องอย่างเคร่งครัด
  • นำเสนอข้อมูลความรู้ และสร้างความตื่นตัว โดยสายการบิน และสนามบิน เพื่อให้ประชาชนร่วมมือในการลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ตั้งแต่ขั้นตอนการจองที่นั่ง ไปจนถึงการขึ้นเครื่อง และตลอดระยะเวลาที่อยู่บนเครื่อง

ผู้เชี่ยวชาญยังระบุในรายงานนี้ด้วยว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ว่านี้อย่างเคร่งครัด ทำให้ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 บนเครื่องบิน ต่ำกว่าความเสี่ยงจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น การออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาด และการออกไปทานอาหารนอกบ้าน ด้วยซ้ำ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo