Business

รู้เรื่อง! โอนที่ดิน ให้ ลูก ญาติ เสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง พร้อมข้อควรระวังหลังโอน

โอนที่ดิน ขายอสังหาริมทรัพย์ นอกจากจะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังต้องเสียภาษี และค่าธรรมเนียม ที่แตกต่างกัน หาคำตอบได้ที่นี่

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีข้อแนะนำ สำหรับการซื้อขาย โอนที่ดิน ที่นอกจากการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ในขั้นตอนการขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะมีการคิดภาษีค่าโอนที่ดิน ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้

โอนที่ดิน

กรณีโอนให้ญาติพี่น้อง

สำหรับการค่าโอนที่ดินให้กับญาติพี่น้องนั้น แม้จะมีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือด แต่ก็มีความแตกต่างกันตามแต่ละกรณี โดยสามารถดูได้ดังนี้

ค่าโอนที่ดินสำหรับลูกที่ชอบด้วยกฏหมาย

สำหรับคำว่า ลูกที่ชอบด้วยกฏหมาย นั้น หมายถึง ลูกที่ได้กำเนิดในระหว่างที่ฝ่ายพ่อและแม่อยู่ในระหว่างการจดทะเบียนสมรส แล้วต้องการยกที่ดินที่มีให้กับลูก จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการโอนที่ดินดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม การโอนกรรมสิทธิ์ 0.5% จากราคาประเมิน
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% จากราคาประเมิน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% จากราคาประเมิน (เฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท)

หมายเหตุ: สำหรับลูกบุญธรรมจะถูกนับรวมในกรณีของการโอนที่ดินสำหรับญาติพี่น้อง

ค่าโอนที่ดินสำหรับลูกที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

สำหรับคำว่า ลูกที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายนั้น หมายถึง ลูกที่ได้กำเนิดขึ้นในระหว่างที่พ่อและแม่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือไม่ได้ทำการจดใบทะเบียนรับรองบุตรแต่กำเนิด กรณีดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม การโอนกรรมสิทธิ์ 0.5% จากราคาประเมิน
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%

โอนบ้าน

ค่าโอนที่ดินสำหรับสามีภรรยา

สำหรับคู่แต่งงาน หรือสามี-ภรรยาที่ต้องการจะมอบที่ดินให้แก่กัน แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของมรดก จะมีค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม การโอนกรรมสิทธิ์ 0.5% จากราคาประเมิน
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%

ค่าโอนที่ดินสำหรับญาติพี่น้อง ที่ไม่ใช่ลูก

ญาติพี่น้องในที่นี้ หมายถึง พี่น้อง ปู่ ย่า น้า อา ลูกเขย ลูกสะใภ้ และรวมไปถึงลูกบุญธรรม หากไม่ได้ทำการโอนในรูปแบบของมรดก จะต้องเสียค่าโอนที่ดินดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม การโอนกรรมสิทธิ์ 2% จากราคาประเมิน แต่ถ้าหากกรณีที่ปู่ ย่า ตา ยาย โอนให้หลานที่สืบสายเลือดแท้ๆ จะเสียเพียง 0.5% จากราคาประเมินเท่านั้น
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาประเมิน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50%

โอนที่ดิน

จะสังเกตได้ว่า แม้จะเป็นญาติสนิทฝ่ายใดก็ตาม หากไม่ใช่ผู้ที่เป็นลูกแท้ๆ ก็ต้องเสียภาษีค่าโอนที่ดินในจำนวนเดียวกันกับการซื้อขายที่ดินตามปกติ เพียงแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการหักค่าใช้จ่ายยืนพื้นที่ 50% (ไม่จำกัดจำนวนปีที่ครอบครอง)

กรณีโอนในฐานะมรดก

สำหรับการโอนในฐานะมรดก จะเสียค่าโอนที่ดินเพียงค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนมรดกเท่านั้น โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

  • กรณีที่ฝ่ายรับมรดกเป็นผู้สืบสายเลือดแท้ๆ (ลูก หลาน เหลน) หรือเป็นคู่สมรส จะคิดค่าธรรมเนียมเพียง 0.5% จากราคาประเมินเท่านั้น
  • กรณีที่ฝ่ายรับมรดกเป็นญาติพี่น้องที่ไม่ได้สืบสายเลือด หรือลูกบุญธรรม จะคิดค่าธรรมเนียมเป็นจำนวน 2% จากราคาประเมิน

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขพิเศษจากการโอน ในฐานะมรดกเพิ่มเติม ดังนี้

  • หากทรัพย์สินมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีเป็นจำนวน 10% นับจากส่วนที่เกินมูลค่า 100 ล้านบาท
  • หากผู้รับมรดกเป็นผู้สืบสายเลือดแท้ๆ (ลูก หลาน เหลน) จะคิดอัตราภาษีเพียง 5% เท่านั้น
  • หากเป็นการโอนมรดกระหว่างสามี-ภรรยา จากกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต หากจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฏหมาย ผู้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี โดยไม่ต้องจ่ายค่าโอนที่ดินใด ๆ

บ้าน 1

กรณีโอนสำหรับซื้อ-ขาย

สำหรับการโอนซื้อขายที่ดินนั้น ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นญาติพี่น้องหรือใคร ก็จะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นด้วยกันทั้งหมดดังนี้

  • ค่าธรรมเนียม การโอนกรรมสิทธิ์ จะคิดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 2% จากราคาประเมินที่ดิน
  • ค่าอากรแสตมป์ อยู่ที่ 0.5% จากราคาประเมิน หรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาใดสูงกว่า
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ อยู่ที่ 3.3% จากราคาประเมิน หรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาใดสูงกว่า
  • ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดตามขั้นบันไดจากราคาประเมิน หักค่าใช้จ่ายตามปีที่ถือครอง

ข้อควรระวังหลังการโอน

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะเตือนให้พึงระวังเอาไว้ นั่นก็คือ เมื่อทำการโอนแล้ว กรรมสิทธิ์ทั้งหมด จะตกเป็นของเจ้าของใหม่ทันที โดยที่เจ้าของเดิม ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้อีกแล้ว

แม้ว่ากรณีที่โอนให้กันในรูปแบบมรดก หรือพ่อแม่ยกให้ลูก อาจสามารถไถ่ถอนคืนได้ แต่สำหรับการซื้อ-ขายตามปกตินั้น จะไม่มีสิทธิ์ใด ๆ เลย ผู้โอนจึงต้องระมัดระวัง ในขั้นตอนการโอนที่ดินเอาไว้ให้มาก ๆ

สำหรับผู้ที่ต้องการเช็กราคาประเมินที่ดินของตัวเองคร่าว ๆ สามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ เพื่อการประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับค่าโอนที่ดินแบบคร่าว ๆ ให้การจัดการเรื่องต่าง ๆ เป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo