Politics

‘วิษณุ’ ปัดตอบปมประกาศ ‘กฎอัยการศึก’ โยนเป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงฟันธง

วิษณุ” ปัดตอบปมถึงเวลาประกาศ “กฎอัยการศึก” แล้วหรือยัง? โยนเป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตัดสินใจ ยืนยันรอบที่ล้าน ขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ไม่เกี่ยวเรื่องชุมนุม

จากกรณีที่มีกระแสข่าวการประกาศ กฎอัยการศึก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าเป็นผู้มีอำนาจในการประกาศนั้น

กฎอัยการศึก วิษณุ

เย็นวันนี้ (24 พ.ย. 63) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า การประกาศบางพื้นที่เป็นอำนาจของผู้ดูแลพื้นที่ อย่างแม่ทัพภาคจะมีอำนาจประกาศในพื้นที่ของตัวเอง

เมื่อถามว่าแต่เหตุใดเมื่อปี 2557 ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จึงประกาศได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ผบ.ทบ. ประกาศแล้วนำความกราบบังคมทูลฯ กรณีของ ผบ.ทบ.จะมีลักษณะคล้ายกับนายกฯ ที่สามารถประกาศได้ทั้งประเทศ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีจะประกาศต้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่างจากผู้บัญชาการในพื้นที่ที่เมื่อประกาศแล้วไม่ต้องผ่านที่ประชุม ครม.

เมื่อถามว่าสถานการณ์ปัจจุบันถึงจุดที่ต้องประกาศ กฎอัยการศึก แล้วหรือยัง นาย วิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุว่าไม่มีความเห็น เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องประเมิน

นายวิษณุยังเปิดเผยถึงกรณีที่เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าหารือเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป 45 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในพรุ่งนี้ (25 พ.ย. 63) #ม็อบ25พฤศจิกา แต่อย่างใด

เนื่องจากการขยายเวลาบังคับใช้ 45 วันครั้งนี้ มีปัญหาบางอย่าง เพราะสงสัยว่าจะขยายเวลาครั้งละ 30 วันเหมือนเดิมได้หรือไม่ ตนจึงชี้แจงไปว่า หากเป็นเช่นนั้นจะต้องมีการประชุม ครม. ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อขยายเวลาการบังคับใช้ เมื่อตนอธิบายเขาก็เข้าใจเป็นที่เรียบร้อย และยืนยันว่าไม่ใช่การหารือเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม

208258 1

กฎอัยการศึก (Martial Law) เป็นกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล

ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน

กฎอัยการศึกมักกำหนดเป็นการชั่วคราวเมื่อรัฐบาลหรือข้าราชการพลเรือนไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง หรือให้บริการที่สำคัญ ในกฎอัยการศึกเต็มขั้น นายทหารยศสูงสุดจะยึด หรือได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้ว่าการทหารหรือเป็นหัวหน้ารัฐบาล ฉะนั้น จึงเป็นการถอดอำนาจทั้งหมดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการของรัฐบาล

กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่มีอยู่ในเวลาปกติ แต่ไม่ได้ใช้บังคับ โดยเมื่อจะใช้บังคับจะต้องประกาศ และกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้บังคับ ในหลายประเทศจะไม่มีการตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในบางประเทศจะตราเป็นกฎหมายชัดเจน เช่น ฝรั่งเศส ไทย

รัฐบาลอาจใช้ กฎอัยการศึก เพื่อควบคุมสาธารณะ เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เช่น ประเทศไทยใน พ.ศ. 2549 เมื่อถูกการประท้วงของประชาชนคุกคาม เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในประเทศจีน พ.ศ. 2532 เพื่อปราบปรามคู่แข่งทางการเมือง(เช่น ประเทศโปแลนด์ในปี พ.ศ. 2524 หรือเพื่อกำราบการก่อการกบฏ เช่น วิกฤตการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ในประเทศแคนาดา อาจมีประกาศกฎอัยการศึกในกรณีภัยพิบัติธรรมชาติใหญ่ ทว่า ประเทศส่วนมากประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแทน

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกฎอัยการศึกระหว่างความขัดแย้งหรือในกรณีการยึดครอง เมื่อไม่มีการจัดรัฐบาลพลเรือนอื่นใดให้กับประชากรที่ไม่มีเสถียรภาพ ตัวอย่างเช่น การบูรณะประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดจนการบูรณะตอนใต้หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา

ตามแบบ การกำหนด กฎอัยการศึก จะประกอบกับการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืน การระงับกฎหมายแพ่ง สิทธิพลเมือง หมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล และการใช้หรือขยายกฎหมายทหารหรือการศาลทหารกับพลเรือน

shutterstock 194341850

  • สำหรับ กฎอัยการศึก ของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 มีทั้งสิ้น 9 มาตรา
  • ราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ครั้งแรก ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ในกรุงเทพฯ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พื้นที่ที่ใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดของประเทศไทยคือ อำเภอสะเดา โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนานถึง 24 ปี 1 เดือน 8 วัน
  • ในการรัฐประหารปี 2557 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนาน 10 เดือน 11 วัน
  • การยกเลิกการบังคับใช้ กฎอัยการศึก ในพื้นที่ใด จะต้องประกาศออกมาเป็นพระบรมราชโองการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo