Lifestyle

มหกรรมหนังสือฯ ชวนมา ‘อ่านออกเสียง’

บิ๊กอีเวนท์ก่อนส่งท้ายปี ของชาวหนอนหนังสือ ในงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23” และ “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12  จัดระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคมนี้ ยังจัดที่เก่าเวลาเดิม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ปีนี้พบกับหนังสือราคาพิเศษกว่า 1 ล้านเล่ม  จากสำนักพิมพ์ 376 ราย  รวมทั้งสิ้น 931 บูธบนพื้นที่กว่า 2  หมื่นตารางเมตร

มหกรรมหนังสือฯ

การจัดงานปีนี้ มาภายใต้แนวคิด อ่านออกเสียง พร้อมชม นิทรรศหนังสือสาบสูญ 3018/ นิทรรศการสำหรับเด็กและครอบครัว Wonder Land ดินแดนค้นพบตัวตน และนิทรรศการเยาวชน ท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU…จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม เป็นต้น  เวทีเสวนาและกิจกรรมตลอด 12 วัน

สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดานักอ่านมาตลอด  ธีมงานภายใต้แนวคิด “อ่านออกเสียง”  คือ การอ่านให้มีเสียงดัง เป็นการอ่านเพื่อส่งสาร

“การอ่านออกเสียง ยิ่งออกเสียงดังเท่าไร ก็จะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายและได้มากขึ้น”

สุชาดา สหัสกุล
สุชาดา สหัสกุล

นอกจากนี้ผู้อ่านถึงจะอ่านหนังสือหรือบทความเรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงต้องออกเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน หนังสือและการอ่านจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงนั่นเอง

ในงานมีนิทรรศการหลักๆ  3 นิทรรศการ เริ่มจากนิทรรศการ “หนังสือสาบสูญ 3018” บริเวณหน้าห้องเพลนารีฮอลล์ นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน ที่ห้องมีทติ้งรูม 1-2 และ นิทรรศการ “ท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม” โซนฮออล์เอ

นิทรรศการ “หนังสือติดดาว”นิทรรศการ “100ABCD” นิทรรศการ “TK Book Rally รู้จักกันผ่านหนังสือ” และนิทรรศการ “สื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2” รวมทั้งนิทรรศการอื่นๆ ที่จัดแสดงโดยหน่วยงานภาคีเครือข่าย

นิทรรศการหนังสือสาบสูญ มหกรรมหนังสือฯ

นิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018” มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า หนังสือ 99.5% สูญสลายหายไปตามกาลเวลา และมีเพียงส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำที่จะสามารถคงอยู่ต่อไป” ผู้ชมนิทรรศการจะจินตนาการไปสู่โลกอนาคต กับภาพจำลองของห้องเก็บข้อมูลในยามที่หนังสือไม่มีอยู่อีกแล้ว สิ่งที่คงเหลือไว้คือประวัติศาสตร์ และปูมบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกหนังสือและการอ่านที่เปลี่ยนแปลงตลอดมา เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่า “ผู้อ่าน” มีส่วนตัดสินชี้ขาดความเป็นไปของหนังสือหรืองานเขียนต่างๆ อย่างไร เฉกเช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ที่เราจะเข้าใจได้ก็เมื่อทุกอย่างได้ดำเนินมาสู่จุดสิ้นสุด

มหกรรมหนังสือฯ

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในงาน “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12” ได้แก่

นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน” นิทรรศการสำหรับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เพื่อให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจ จากโซนกิจกรรม 10 ฐานที่ทั้งสนุกและสร้างการเรียนรู้แตกต่างกันไป โดยการเข้าชมนิทรรศการนี้ เด็กๆ จะต้องเข้าไปกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อทำกิจกรรมแต่ละฐานร่วมกัน

นิทรรศการท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม” นิทรรศการระดับโลกที่ผ่านการจัดแสดงทั้งใน กรุงปารีส เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และไทเป และส่งตรงมางานมหกรรมหนังสือที่ กรุงเทพฯ โดยนำภาพสเก็ตช์และสตอรี่บอร์ดจริงของ Hosoda Mamoru (โฮโซดะ มาโมรุ) ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะชื่อดัง โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ มาจากภาพยนตร์ที่เข้าฉายในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์เป็นนิยายและหนังสือการ์ตูนในฉบับภาษาไทยอีกด้วย

ครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนที่จะเชิญเด็กจากชุมชนปีนัง ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ไม่เคยเข้าร่วมงาน โดยจะเชิญมาเป็นแขกพิเศษร่วมงานเปิดนิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน

มหกรรมหนังสือฯ

พิเศษกับ โปสการ์ด “อ่านออกเสียง” Limited Edition การผนึกลายเส้นครั้งสำคัญจาก  17 นักวาด ชั้นนำและสำนักพิมพ์ชื่อดัง เริ่มจาก Art Jeeno, Eat all day, Jaytherabbit, Sisidea, คิ้วต่ำ, เดอะดวง, ตัวกลม,  ปังปอนด์, มะม่วง, มุนิน, หนูหิ่น, หัวแตงโม, สำนักพิมพ์แจ่มใส, สำนักพิมพ์นาบู, สำนักพิมพ์พราว, สำนักพิมพ์พูนิก้า และสำนักพิมพ์อี.คิว. พลัส แจกฟรีให้กับผู้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 23

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight