Business

‘นายกฯ’ รับทราบตัวเลขเศรษฐกิจไทยดีขึ้น กำชับหน่วยงานเร่งเพิ่มกำลังซื้อ

“นายกฯ” รับทราบตัวเลข เศรษฐกิจไทย ดีขึ้น สภาพัฒน์ฯ รายงานตัวเลข GDP ติดลบน้อยลง กำชับหน่วยงานเร่งมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ ช่วยลูกหนี้ธุรกิจ

นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่นำเสนอโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ปรับตัวลดลง 6.4% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการปรับตัวลดลง 12.1% และหากรวม 9 เดือนแรกของปี2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลด 6.7%

การปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย เนื่องมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางภายในประเทศ

เศรษฐกิจไทย นายกฯ

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทั้งปี 2563 นั้น สศช. คาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะลดลง 6.0% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวในช่วง 3.5 – 4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวสูงขึ้นภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทาง เศรษฐกิจ ต่างๆ

ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศซึ่งอาจมีความยืดหยุ่นและรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าโลก ภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับเงื่อนไขด้านการจ้างงาน และฐานะการเงินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

“ถึงแม้ตัวเลขทาง เศรษฐกิจไทย จะบ่งบอกว่าไทยมีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ท่าน นายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยเหลือลูกหนี้บุคคล และลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้ SME และเร่งดำเนินการมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเร็ว” นายอนุชากล่าว

ส่งออกไทย

ในวันนี้ (23 พ.ย. 63) กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.71% นำเข้ามูลค่า 17,330.15 ล้านดอลลาร์ ลดลง 14.32% เกินดุลการค้า 2,046.53  ล้านดอลลาร์

รวม 10 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์ หดตัว 7.26% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 169,702.56 ล้านดอลลาร์ หดตัว 14.61% ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านดอลลาร์

แนวโน้มการส่งออกของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้ามีศักยภาพในการขยายตัวแม้เผชิญกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐ อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ

คาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์การค้าโลกมี ความผันผวนน้อยลง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวในขณะนี้เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นสินค้าศักยภาพท่ามกลางโควิด-19 อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

แต่เมื่อโลกสามารถผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จความต้องการสินค้าเหล่านี้อาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในระยะถัดไป จำเป็นต้องขยายตลาดในสินค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง

เศรษฐกิจ ไทย ร้านค้า ธุรกิจ

ตลาดส่งสำคัญอยู่ยังในทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มูลค่าการส่งออกในหลายตลาด ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน และหลายตลาดกลับมาขยายตัวในระดับสูง ภาพรวมการส่งออกไปยังตลาด เศรษฐกิจ ต่าง ๆ ดังนี้

  • ตลาดหลัก ขยายตัว 4.8% ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวดีต่อเนื่อง 17.0% สหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาก โดยหดตัว 0.4% ขณะที่ญี่ปุ่นหดตัว  5.3%
  • ตลาดศักยภาพสูง หดตัว 13.5% โดยการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียน และ CLMV หดตัว 6.1% , 27.2% และ 17.0% ตามลำดับ ขณะที่เอเชียใต้กลับมาขยายตัว 15.6%
  • ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัว 2.8% โดยตลาดตะวันออกกลาง  ทวีปแอฟริกา และรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 18.1%,  16.7% และ 2.0% ขณะที่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน 4.2% และลาตินอเมริกากลับมาขยายตัว 12.9%

สินค้า เศรษฐกิจ ที่ขยายตัวได้ดียังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก คือ

  • สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร
  • สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์
  • สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในช่วงนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo