Economics

รถเก่าแลกรถใหม่ ‘ส.อ.ท.’ ชงเน้นเฉพาะรถผลิตในประเทศ

รถเก่าแลกรถใหม่ ‘ส.อ.ท.’ เสนอเน้นเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก เพื่อช่วยให้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเอสเอ็มอี ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ป้อนโรงงานมีการจ้างงานรวมกันมากถึง 1 ล้านคน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการ รถเก่าแลกรถใหม่ ได้ส่วนลดนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แต่เห็นว่าที่เร่งด่วนในขณะนี้ คือ ส่งเสริมให้เปลี่ยนรถยนต์ใหม่ ที่มีการผลิตในประเทศเป็นหลัก เพื่อช่วยให้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเอสเอ็มอี ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ป้อนโรงงานมีการจ้างงานรวมกันมากถึง 1 ล้านคน

ขณะที่ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ เป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเอทานอล และไบโอดีเซล ที่มีส่วนช่วยเกษตรกร และ ยังช่วยลดมลภาวะลงได้อีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบัน ประเทศไทย มียอดสะสมรถยนต์นั่ง รวมประมาณ 10 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซิน 6.4 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 62 และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล 3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 29% ของรถยนต์ทั้งหมดในภาพรวม

รถเก่าแลกรถใหม่
ภาพจาก Pixabay

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยกลุ่มรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง เติบโตเพิ่มขึ้น 140% จาก 31 ธันวาคม 2562 ที่มียอดขายรวม 802 คัน มาเป็นกว่า 1,000 คัน และเป็นการเติบโตมาจากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยราคาขายสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ขายดีในช่วงราคา 2-3 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดกำลังซื้อ ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ต้องการซื้อรถยนต์ประมาณคันละไม่เกิน 800,000 บาท ตรงกันข้ามกับยอดขายรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.63) ยอดขายลดลง 27% ยอดขายรถยนต์นั่งตกลงไป 37% รถกระบะตกลง 20% รถพีพีวี ตกไป 38% รถเอชยูวี ยอดขายตกลงไป 11%

ส่วนกลุ่มรถยนต์นั่งไฮบริดที่ขายในประเทศ ช่วง 10 เดือนปี 2563 เติบโตขึ้น 44% ด้วยยอดขายเดือนละประมาณ 4,700 คัน ยอดสะสม 10 เดือนที่ 47,000 คัน ยอดสะสมในประเทศกว่า 153,000 คัน แต่ภาพรวมมีสัดส่วนคิดเป็น 1.48% ของยอดรถยนต์สะสมทั้งหมดที่มีประมาณ 10 ล้านคัน

ส่วนการส่งเสริมนำ รถยนต์เก่าแลกรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เห็นด้วย แต่ควรรอให้มีการผลิตและมีโครงสร้างพื้นฐานในประเทศก่อน เพราะขณะนี้ ค่ายรถยนต์หลักในไทย ยังไม่มีการผลิตรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าที่ขาย ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีระดับราคาที่สูงคันละกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปถึงหลายล้านบาท กลุ่มคนที่ซื้อจึงเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เบื้องต้นจากการที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในช่วงปี 2561 จะต้องเริ่มต้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลายปี 2564 – 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สำหรับโครงการรถแลกแจกแถม หรือ รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คันนั้น ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบศ. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว ชุดที่ 2 ที่เสนอโดย คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว

4 เงื่อนไขโครงการรถเก่าแลกรถใหม่

  1. ประชาชนที่นำรถเก่ามากำจัดจะได้รับส่วนลดภาษีไม่เกิน 1 แสนบาท
  2. คูปองส่วนลดในการซื้อรถยนต์ใหม่ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากค่ายรถยนต์ต่างๆ
  3. รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนนำรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป นำมาแลกสิทธิประโยชน์จากรัฐบบาล
  4. จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK