Politics

“ไอติม-ทราย” อัดคนซ้ำเติมเหยื่อละเมิดทางเพศ ขณะหญิงสาวโพสต์ “ขอโทษแม่”

การชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า สถานีสยาม เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ปรากฏผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดนักเรียน มาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยชูป้าย “หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย”

ผู้หญิงคนดังกล่าวระบุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เหตุการณ์นั้นยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธอ ทำให้มีภาวะทางจิตเวช ซึ่งหลังจากการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกไปในเว็บไซต์และโลกโซเชียล ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นใจจำนวนมากถึงสิ่งที่หญิงคนดังกล่าวต้องการสื่อ

แต่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม แสดงความคิดเห็นกล่าวโทษว่าสมยอมเอง และใช้ถ้อยคำในเชิงคุกคามทางเพศ พร้อมทั้งยังนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยว่าไม่ใช่นักเรียน แต่อายุ 21 ปีแล้ว และเป็นนางแบบ พร้อมนำภาพที่มีการแต่งชุดคอสเพลย์ ถ่ายแบบ มาโจมตีการแต่งตัว

ประเด็นการชูป้ายเรียกร้อง ได้รับความสนอย่างมาก นอกจากจะเป็นปัญหาที่มีมานานในสังคมไทย ล่าสุดหญิงสาวได้เขียนในเฟซบุ๊ก โดยเป็นข้อความที่ฝากถึงคุณแม่ของเธอ ดังนี้

“ฝากเจ้านกพิราบ ส่งจดหมายถึงแม่ของฉันทีนะ

ลูกขอโทษนะที่เป็นลูกสาวแบบที่แม่หวังไม่ได้

ลูกขอโทษนะที่ เป็นลูกสาวที่เห็นแก่ตัว

ลูกขอโทษนะที่เป็นลูกสาวที่น่ารังเกียจ

หนูเกลียดตัวเอง ที่กำลังทำแม่ร้องไห้ ทุกเสียงของแม่มันก้องอยู่ในหัวหนู

“หนูเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวไม่นึกถึงจิตใจคนอื่น”

“หนูเป็นคนที่ทำทุกอย่างด้วยความสะใจ”

“หนูต้องให้พ่อให้แม่ตายเลยใช่ไหมถึงจะหยุดทำ”

แม่… หนูขอโทษที่เป็นลูกสาวที่น่ารังเกียจนะ ตอนนี้หนูอยากกอดแม่ให้แน่นๆ แน่นที่สุด

แม่… ไม่ต้องกอดหนูกลับเลยก็ได้

แม่…จะผลักร่างกายที่น่าขยะแขยงนี้ไปก็ได้

แต่หนูก็จะยังอยู่ข้างๆแม่ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ทุเรศที่สุดก็ตาม

ลูกรักแม่สุดหัวใจนะ”

“ไอติม”ชี้ล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในโรงเรียน

ประเด็นดังกล่าว “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อต้ังกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงประเด็นปัญหาโดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนปัจจุบัน มีข้อเรียกร้องที่มีส่วนผสมทั้งด้านการเมืองและด้านการศึกษา เพราะหลายปัญหาในสังคม มีต้นกำเนิดในรั้วโรงเรียน เพราะค่านิยมและบรรยากาศที่ถูกกำหนดในโรงเรียนหรือห้องเรียน มักแปรร่างมาเป็นค่านิยมและบรรยากาศในสังคมที่เราอาศัยอยู่

1. การทุจริต

ปฏิเสธไม่ได้ ว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องการทุจริตในการจัดลำดับ ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต โดยองกรณ์ความโปร่งใสนานาชาติเมื่อปีที่แล้ว ประเทศสอบตก โดยได้คะแนนเพียง 36/100 และเข้ามาเป็นอันดับที่ 101/180 ประเทศ

หลายคนมักออกมาพูดว่า ทางออกอยู่ที่การปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

แต่ในขณะที่เด็กถูกปลูกฝังว่าให้ “โตไปไม่โกง” การโกงกลับเกิดขึ้นในทุกห้วงเวลาและทุกตารางเมตรของชีวิตในรั้วโรงเรียนไทย

ตั้งแต่ตอนเลือกโรงเรียน หลายโรงเรียนก็เลือกที่จะฉวยโอกาสจากความหวังดีของพ่อแม่ โดยการขายที่นั่งในโรงเรียนผ่านการคิดค่าแป๊ะเจี๊ย

ในวันก่อนเข้าเรียน นักเรียนบางโรงเรียน ก็ถูกบังคับให้ไปซื้อชุดนักเรียนและกระเป๋านักเรียนจากร้านค้าเพียงร้านเดียวที่ราคาของในร้านนั้นดูสวนกับคุณภาพ แต่บังเอิญว่าเจ้าของสนิทกับ ผ.อ.

พอเข้าเรียนแล้ว บางโรงเรียนก็มีการโกงงบอาหารกลางวัน จนทำให้เด็กๆไม่ได้รับโภชนาการที่ควรจะเป็น

และพอเด็กมองไปที่ครู ด้วยความหวังว่าครูจะเป็นแสงนำทางให้กับเขาว่าควรมีพฤติกรรมอย่างไร ครูบางคนกลับไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่ตัวเองมีให้กับนักเรียนในคาบเรียน เพราะหวังจะกั๊กไว้ส่วนหนึ่ง ที่สามารถเก็บไว้สอนพิเศษหลังเลิกเรียน ที่คิดเงินเด็กได้

พอโรงเรียนทำให้เด็กเห็นการทุจริตอยู่ในทุกๆวัน ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมประเทศเราถึงมีการทุจริตทุกรูปแบบเต็มไปหมด และทำไมประชาชนมักมองว่าการจ่ายสินบนและการโกงนั้นเป็นเรื่องปกติ

2. การล่วงละเมิดทางเพศ

การคุกคามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในโรงเรียน ที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเช่นกัน

หลายครั้งที่ผู้กระทำมักใช้อำนาจหรือความไว้วางใจที่ได้จากตำแหน่งที่ตนเองมี (เช่น ครู พระ คนในครอบครัว) ในการฉวยโอกาสกับเหยื่อ

พอผู้ถูกกระทำลุกขึ้มาเพื่อเปิดโปงความเลวร้ายนี้ ก็มีหลายครั้งที่เหยื่อมักถูกกดดันให้ไม่ดำเนินคดี เพราะจะทำให้โรงเรียน (ในกรณีที่นักเรียนถูกกระทำโดยครู) หรือ ครอบครัว (ในกรณีที่ภรรยาถูกกระทำโดยสามี) “เสียชื่อเสียง”

ถ้าผู้ถูกกระทำเดินหน้าต่อในการดำเนินคดี ก็มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ หรือสังคม กลับมีการโทษเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการไปถามเรื่องการแต่งกายของเหยื่อ หรือไปตั้งคำถามหรือสมมุติฐานที่ไม่เหมาะสมและไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น (เหมือนกับในภาพด้านล่าง) แทนที่จะมุ่งหน้าในการให้ความร่วมมือเหยื่อและดำเนินการกับผู้กระทำผิด

ผมยังจำได้ว่าตอนทำกิจกรรมกับสมัชชาสตรีแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีการจัดกิจกรรมช่วงหนึ่งเพื่อสอบถามในกลุ่มว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมเคยเจอปัญหาอะไรบ้างที่บ้าน ไม่มีใครสักคนที่ยกมือพูดถึงปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่พอเราถามให้คนโหวตแบบไม่เปิดเผยตัวตนผ่านการเขียนเข้ามาในกระดาษว่ากำลังเจอปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่บ้านอยู่บ้างหรือไม่ เกินครึ่งเขียนกลับมาว่าเคย

เรื่องนี้ทำให้อดคิดและอดกังวลไม่ได้ว่า ถ้าเราสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่ปิดกั้นไม่ให้เด็กออกมาเปิดโปงเวลาครูทำผิด แต่กลับถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง” เรากำลังจะสร้างบรรยากาศในสังคมที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ใหญ่ที่ถูกสามีทำร้าย ไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียง 2 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราอยากเปลี่ยนประเทศได้ เราต้องเปลี่ยนโรงเรียนของเราให้ได้ด้วย เพื่อให้ห้องเรียนและโรงเรียนของเรายืนหยัดในค่านิยมที่เราใฝ่ฝันอยากจะเห็นในสังคม

‘ทราย’อัดพวกซ้ำเติมเหยื่อถูกคุกคามทางเพศ ‘ไม่ใช่มนุษย์’

ทราย เจริญปุระ หรือ อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงสาว ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ได้โพสต์ภาพของหญิงที่ออกมาถือป้าย พร้อมระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า “Don’t Tell Me How To Dress คุณลองมองรูปนี้ให้ดี ๆ มองอากัปกิริยาของผู้หญิงที่อยู่ในภาพให้ละเอียด เธอคนนี้คือคนที่เพิ่งออกมาที่ม็อบวันนี้แล้วถือป้ายบอกว่าเคยถูก “ครู” ทำอนาจารสมัยเรียนมัธยม และมันเกิดขึ้นในโรงเรียน”

“ถ้าคุณมีความเป็นมนุษย์มากพอจนมองคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกันกับคุณ คุณจะรู้ว่าไม่มีใครสมควรถูกทำอนาจาร คุณจะรู้ว่าเราทุกคนมีสิทธิในเรือนร่างของตัวเอง ไม่ว่าเขาหรือเธอจะแต่งตัวแบบไหน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะแสดงออกทางเพศมากน้อยเพียงใด คุณจะตระหนักดีว่าการแต่งตัวหรือการแสดงออกทางเพศไม่ว่าจะในรูปแบบใด ไม่เท่ากับการอนุญาตให้เขาหรือเธอถูกทำอนาจาร คุณจะมองภาพนี้แล้วพบว่า เหยื่อของการคุกคามทางเพศไม่ใช่วัตถุที่ถูกทำให้ด้อยค่าลงไป เขาหรือเธอยังคงเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเธอในภาพ ที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากพอที่จะเอาชนะวัฒนธรรมของการโทษเหยื่อ และเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในร่างกายของตัวเองอีกครั้ง”

ถ้าคุณไม่มีความเป็นมนุษย์มากพอจนมักที่จะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น คุณจะมองภาพนี้แล้วรู้สึกว่า คำพูดของเหยื่อนั้นไร้ความหมาย คุณจะเหยียบย่ำเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศลงไปอีกด้วยการมองหาข้อผิดพลาดของเขาหรือเธอ คุณมักจะถามว่าตอนที่เกิดเห็นเหยื่อแต่งตัวยังไง ให้ท่าใครหรือเปล่า คุณคิดเสมอว่าการแต่งตัวหรือการแสดงออกทางเพศเป็นต้นเหตุของการทำอนาจาร คุณมักจะเหยียดเหยื่อที่ถูกกระทำอนาจารว่าไม่บริสุทธิ์ คุณชอบที่จะละเลยว่าผู้กระทำความผิดคือคนที่ควรถูกกล่าวโทษแต่เพียงผู้เดียว คุณกำลังสนับสนุนให้ผู้กระทำอนาจารและสังคมไม่ต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักหักห้ามใจ คุณกลายเป็นผู้ที่ข่มขืนเธออีกรอบในทางความคิด

“ลองมองรูปนี้อีกครั้ง ตกลงว่าคุณเห็นเธอเป็นฮีโร่ในเรื่องราวของเธอเอง หรือคุณเห็นเธอเป็นเหยื่อที่สมควรถูกกระทำ ถ้าเป็นอย่างแรก ยินดีด้วย คุณยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ แต่ถ้าเป็นอย่างหลัง เสียใจด้วย คุณแม่งไม่ใช่มนุษย์ คุณมันเหี้.. ทุเรศ น่าสะอิดสะเอียน และน่าขยะแขยง..”

Avatar photo