Economics

เซ็ง!! กฎระเบียบรัฐขวางทำโรงไฟฟ้าขยะเกิดยาก

ae1

ขยะประเทศไทย นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น รอบ 15 ปี เพิ่มกว่า 2,000 ตันต่อวัน เหตุขยะต่อคนยังสูงต่อเนื่องจาก 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็น 1.14 กิโลกรัมต่อตันต่อวัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะเกิดยาก 

ขยะมูลฝอยระหว่างปี 2551-2565 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 40,662.42 ตันต่อวัน เป็น 42,900.26 ตันต่อวัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนเพิ่มจาก 1.13 เป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

โดยสัดส่วนการเกิดขยะมูลฝอย เกิดในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล 11.69 ล้านตัน คิดเป็น 43% เทศบาลและเมืองพัทยา 11.16 ล้านตัน คิดเป็น 41% และในกรุงเทพ 4.21 ล้านตัน คิดเป็น 16%

แม้จะมีการรณรงค์หลัก 3 R ทั่วประเทศ ทั้งลดปริมาณ  และรีไซเคิลขยะ รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มี นโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการนำขยะไปเป็นพลังงาน อย่าง “โรงไฟฟ้าขยะ”  แต่ขยะก็ยังเพิ่มขึ้นทวีคูณ เพราะอะไร

ae4

อุปสรรคปัญหาจากกฎระเบียบรัฐ

นางสาวเสวิตา ถิ่นสันติสุข กรรมการผู้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแหงประเทศไทย (สอท.) กล่าวในงานเสวนา “ทางเลือก ทางรอด โรงไฟฟ้าขยะ” โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้คำตอบ ว่าปัญหาอุปสรรคสำคัญของการจัดทำโรงไฟฟ้าขยะมาจาก ขั้นตอนและกฎระเบียบมากเกินไป มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 10 หน่วยงาน 15 ใบอนุญาต ขณะเดียวกันพ.ร.บ.รักษาความสะอาด 2560 ก็ยังขาดความคล่องตัว

แนวทางแก้ไขที่สำคัญจึงต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุนจากภาคเอกชน และลดจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลง รวมถึงบังคับใช้พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

หากยังใช้กฎระเบียบปัจจุบัน ก็ต้องปรับวิธีการทำงานให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นได้ ซึ่งอุปสรรคสำคัญ คือแรงต่อต้านจากประชาชน ดังนั้นเห็นว่าการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นตามหลักเกณฑ์ COP (Code of Practice) ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และวางหลักเกณฑ์คัดเลือกประชาชนที่อยู่ในรัศมีรอบโรงไฟฟ้าเข้ามาในประชาคมอย่างแท้จริง เพราะเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้เสียโดยตรง  ขณะเดียวกันต้องกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย เช่น ต้องอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลากี่ปี เป็นต้นจึงจะสามารถเข้าไปทำประชาคมได้ เป็นต้น

และให้กระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติโครงการ รวมถึงให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะตามความพร้อมของท้องถิ่น ส่วนสายส่งจำนายไฟฟ้า ให้เลือกพลังงานขยะเป็นอันดับแรก (Grid Priority )

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เลือกใช้ทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน และมีประสิทธิภาพไม่ใช่นำเครื่องจักรเก่ามาใช้ และต้องคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดในทุกเทคโนโลยี งดการใช้เชื้อเพลิงเสริม และเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ถ่านหิน รวมถึงการกำหนดให้โรงไฟฟ้าขยะสามารถใช้ได้ทั้งขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชน

นางสาวเสวิตา ยังเสนอให้รัฐเข้ามากำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF ) ทั้งขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้ใช้ RDF ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และในภาคอุตสาหกรรม เร่งรัดให้มีระบบตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อมในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ เพื่อให้ชุมชนยอมรับ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นรวมตัวลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแทนการลงทุนจากนักลงทุนภายนอกจังหวัด และจากต่างประเทศ รวมถึงจัดสรรให้ชุมชนมีส่วนได้เสียแทนการมีส่วนร่วมเท่านั้น

ae2

3 คำถามข้อกังขาประชาชน

นายสหรัฐ โพธิภักดี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมธิการด้านกิจการพิเศษ บอกว่าไม่ว่าจะไปรับฟังความเห็นที่ไหนก็ตามเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะ ประชาชนมักจะถาม 3 คำถามเสมอ ซึ่งคนทำโรงไฟฟ้าขยะต้องตอบให้ได้ประกอบด้วย

1.ทำไมต้องเป็นพื้นที่นี้

2.ผลกระทบที่เกิดขึ้น

3.ประชาชนได้อะไรจากการมีโรงไฟฟ้าขยะ

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่านี้ ก็คือ ทุกคนต้องช่วยหาทางกำจัดขยะกองโตเป็นเรื่องแรก ส่วนการผลิตเป็นไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ ตามหลักการ Waste to Energy ไม่ใช้มองว่าเป็นการทำโรงไฟฟ้า เพราะไม่เช่นนั้นหลักการคิดจะผิด กลไกที่จะตามมาก็จะไม่ถูกต้องตามไปด้วย เช่น การนำขยะมาใช้ในโรงไฟฟ้า ต้องหมายถึง เป็นการช่วยกำจัด ไม่ใช่เชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าต้องซื้อ   โดยให้ดูตัวอย่างจากประเทศสวีเดน ที่นำเข้าขยะจากเพื่อนบ้านมากำจัดที่โรงไฟฟ้า โดยสวีเดนได้ค่ากำจัดขยะ 400 ดอลลาร์

ทีพีไอเดา Quick Win Projects ล้ม

ขณะที่นายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินโรงไฟฟ้าขยะรายใหญ่จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าจากขยะแล้ว 150 เมกะวัตต์ และกำลังขยายกำลังผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 ของปีนี้จะมีกำลังผลิตเข้าระบบเพิ่มเติมอีก 290 เมกะวัตต์ โดยมีระบบจัดหาขยะจากพื้นที่ต่างๆรอบสระบุรี รวมถึงมีโรงงาน RDF 4 จุด ในหลายจังหวัด

ประเด็นของโรงไฟฟ้าขยะอยู่ที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน โดยทำให้ประชาชนเห็นว่าเรามาช่วยกำจัดขยะที่เทกองใกล้บ้านของเขา ทำให้ปัญหาขยะล้นเมืองลดลง และต้องไม่สร้างมลภาวะ นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการต้นทุนด้วย ในส่วนของบริษัทใช้ระบบบอยเลอร์ ต้นทุนประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์

“สิ่งที่รัฐต้องทำก็คือ ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าแบบตายตัว แต่ให้ปรับตามบริบทของพื้นที่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นโครงการไม่เกิด เพราะต้นทุนสูงเกินไป ซึ่งการกำหนดเทคโนโลยีที่ใช้แบบตายตัว เป็นสาเหตุให้โครงการการจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Quick Win Projects) 12 โครงการ 77.9 เมกะวัตต์เกิดขึ้นไม่ได้จนถึงตอนนี้หลังจากผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี เพราะกำหนดให้ต้องใช้ระบบ Gasification System หรือ กระบวนการเปลี่ยนรูปพลังงานจากเชื้อเพลิงแข็งให้เป็นก๊าซ  ซึ่งต้นทุนสูงถึง 7 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะแต่ละพื้นที่มี่ขนาดเล็ก 3-4 เมกะวัตต์ จึงไม่คุ้มค่าในการลงทุน หากยังกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ เชื่อว่าโครงการนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน

ae3

คัดประชาชนในพื้นที่ร่วมเวทีประชาคมโรงไฟฟ้าขยะ

ด้านนายเชาวน์ นกอยู่ ผู้เชี่ยวชาญ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ยอมรับว่ามีกฎระเบียบเกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าขยะหลายเรื่อง  ทั้งสาธารณสุข ผังเมือง สิ่งแวดล้อม โรงงานอุตสาหกรรม ท้องถิ่น แต่ก็มีเอกชนผลิตไฟฟ้าจากขยะได้แล้วจำนวนมาก เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการขออนุมัติอนุญาตเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐก็พยายามปรับขั้นตอนอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น

สิ่งที่รัฐต้องนำมาคิดในการเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะก็คือ  ทำอย่างไรให้ประชาชนไว้วางใจ ประเด็นแรกต้องให้ความรู้ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ส่วนการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จะต้องมีหลักเกณฑ์ เพื่อให้มีส่วนได้เสียแท้จริงเข้ามาให้ความเห็น ที่สำคัญประชาชนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะของประเทศ  ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกต่างๆมาช่วยเสริม เช่น ภาษี เพื่อนำมาใช้ในการจัดการขยะ บางประเทศเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาขยะ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight