Business

รถยนต์ไฟฟ้า วัดขุมกำลัง ‘ไทย VS อินโดนีเซีย’ แนะกลยุทธ์ดึงเม็ดเงินลงทุน

อินโดนีเซีย คู่แข่งสำคัญของไทยในอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า จากมีแหล่งผลิตแร่นิกเกิล จำนวนประชากร ด้านไทยได้เปรียบห่วงโซ่อุปทาน ชิ้นส่วนรถยนต์ 

การเติบโตของ รถยนต์ไฟฟ้า เริ่มขยายมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนเข้ามายังไทยและ อินโดนีเซีย

shutterstock 1668063934

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันไทยยังได้เปรียบอินโดนีเซีย จากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ และความสามารถในการผลิตให้เกิด Economies of Scale หรือระดับการผลิตที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ที่สูงกว่า

ทว่าความได้เปรียบดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากอินโดนีเซีย สามารถก้าวขึ้นมาเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ การที่อินโดนีเซีย เป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิล รายใหญ่ของโลก โดยครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 1 ใน 4 ส่งผลให้นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แสดงความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ไทยจึงเสียเปรียบอินโดนีเซียในปัจจัยนี้ค่อนข้างมาก

ขณะที่การลงทุนด้านแบตเตอรี่ในไทย ทำได้เพียงการนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบ และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Ni-MH ที่รองรับได้เพียงรถยนต์ไฮบริด ของบางค่ายรถเท่านั้น

นอกจากนี้ ด้วยจำนวนประชากรในประเทศ ที่กำลังซื้อรถยนต์มีมากกว่า โดยอินโดนีเซีย มีจำนวนประชากรผู้ใหญ่ ที่มีมูลค่าของทรัพย์สินเกินกว่า 1 แสนดอลลาร์ฯ อยู่ 1.87 ล้านคน ขณะที่ไทยมีเพียง 1.26 ล้านคน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ในประเทศมากที่สุดในอาเซียน โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อปี สูงเกินกว่า 1 ล้านคันแล้ว และกำลังการผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซีย ก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รถไฟฟ้า

ดังนั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียแรงดึงดูดในการลงทุน ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไปให้กับอินโดนีเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยควรเร่งปรับยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาจุดแข็งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปี ถัดจากนี้ ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะไม่สามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้ แต่ไทยอาจดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ประกอบแบตเตอรี่อื่นๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนการผลิตรถยนต์ แบบแบตเตอรี่ เป็นหลัก (BEV) ถึง 25%

พร้อมกันนี้ ไทยควรเร่งสร้างโอกาสส่งออกรถยนต์ BEV ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อชดเชยกับขนาดตลาดในประเทศที่เล็กกว่าอินโดนีเซีย โดยการเร่งกระบวนการทำ FTA กับสหภาพยุโรป และเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP เพื่อหาตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ควรเร่งพัฒนาขีดความสามารถ ในการเป็นประเทศที่มีต้นทุนการขนส่งรถยนต์เพื่อส่งออกที่ต่ำ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้การขนส่งรถยนต์ ไปตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป สามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิต EV รอบใหม่ ครอบคลุมการส่งเสริม EV ทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้

สำหรับการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

ทั้งนี้ จะมีได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 หรือมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หากมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEV) ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า อย่างน้อย 3 ชิ้น

2. กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

3. กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

4. กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo