General

‘ความรุนแรงในเด็ก-สตรี’ พุ่ง ต้นเหตุจาก ยาเสพติด บันดาลโทสะ สูงสุด

ความรุนแรง ในเด็ก- สตรี สถิติเพิ่มสูงขึ้น ชี้สาเหตุหลัก มาจากยาเสพติด บันดาลโทสะ หึงหวง เร่งผนึกกำลัง สร้างพื้นที่ชุมชุนปลอดภัยสำหรับสตรี

นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า สถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวในช่วงเดือน ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563 มีจำนวน 141 ราย แบ่งออกเป็นความรุนแรงทางร่างกาย 87% ทางเพศ 9% และทางจิตใจ 4%

รุนแรง2

สำหรับปัจจัยกระตุ้น ให้ก่อความรุนแรงได้แก่ ยาเสพติด 35%, บันดาลโทสะ 33%, หึงหวง 25%, สุรา17% เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ, อาการจิตเภท 9% และจากเกม %2

ส่วนพื้นที่เกิด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ และกลุ่มในพื้นที่สังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ตามลำดับ ขณะที่สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 – ถึงเมษายน 2563 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 รายต่อปี หรือ 118 รายต่อเดือน เฉลี่ย 4 รายต่อวัน

ทั้งนี้ พบว่า ปัญหาความรุนแรงในปัจจุบัน ไม่ได้ลดน้อยลง แต่แฝงไปด้วย การบ่มเพาะจากแนวคิด ค่านิยม หรือแม้กระทั้งคำพูดที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

ปัญหาด้านความรุนแรง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น นอกจากก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในครอบครัว สังคม ชุมชนแล้ว ในภาพใหญ่ของประเทศ ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเป็นจำนวนมาก

รุนแรง1

“หากแต่ทุกคนร่วมมือกันลดปัญหา ให้ความสำคัญในเรื่องของความรุนแรง เชื่อว่าสังคมไทยจะน่าอยู่ พร้อมเดินหน้าสู่สังคมแห่งความปลอดภัยลดปัญหาด้านความรุนแรงได้อย่างแน่นอน”นางสาวกรรณนิกา กล่าว

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายอย่าง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “คู่มือการทำงานพื้นที่ชุมชนปลอดภัยสำหรับสตรี” รวมทั้ง ศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ทำให้เราทราบถึงปัญหาที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ รูปแบบของการถูกกระทำความรุนแรง ลักษณะของชุมชน โครงสร้างวัฒนธรรม ตลอดจนปัจจัยสิ่งเร้าต่างๆ

การจัดทำคู่มือดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้กับชุมชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงคือสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้นำชุมชน คือ กระบอกเสียงสำคัญที่จะนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ตามความเหมาะสม

คู่มือการทำงานพื้นที่ชุมชนปลอดภัยสำหรับสตรี จะถูกกระจายผ่าน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด พร้อมการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มต้นที่จังหวัดอำนาจเจริญในปีหน้า

รุนแรง

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงาน ว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC :United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่ากว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิดหรือให้ทางการรับรู้

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึง 48.1% และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัว น้อยที่สุด 26% ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่

.ในส่วนของ คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน เป็นหนังสือที่จะถ่ายทอดบทเรียนการทำงานของแกนนำชุมชน 3 รูปแบบ ในพื้นที่ชุมชนเมือง คือ ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน และชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม.

ขณะที่ พื้นที่ชุมชนชนบท คือ ชุมชนบ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่แรงงานอุตสาหกรรม คือ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา(ไทยเกรียง)

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาคู่มือดังกล่าวเป็น “หลักสูตร” การทำงานสำหรับชุมชนในปี 2564 เพื่อให้ชุมชนนำร่องได้มีการยกระดับการทำงานถ่ายทอดบทเรียนไปสู่ชุมชนที่สนใจต่อไป โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบรัว จะนำหลักสูตรดังกล่าวไปขยายสู่ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน และขยายไปสู่หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปรับใช้ในการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo