General

แจงชัดๆ ‘โคเคน มอร์ฟีน’ ใครจำหน่าย ครอบครองได้บ้าง ตามกฏกระทรวง สธ.อ่านที่นี่

โคเคน มอร์ฟีน มีไว้เพื่อการแพทย์ และทางราชการเท่านั้น รองโฆษกฯ แจง อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อน ประชาชนทั่วไป ห้ามจำหน่าย ครอบครอง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข การอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 อาทิ มอร์ฟีน โคเคน ขณะนี้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ารัฐ เปิดให้ครอบครองและจำหน่าย ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ได้

โคเคน มอร์ฟีน

ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่า กฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และทางราชการเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เพื่อการรักษา หรือป้องกันโรค ให้แก่ผู้ป่วย หรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์ เพื่อการวิเคราะห์ หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์ และประโยชน์ทางราชการอื่น

สำหรับกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้เป็นการถอดมอร์ฟีน หรือ โคเคน ออกจากรายการยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใด จึงขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ ข่าวลวงในโลกออนไลน์ และใช้ความละเอียดรอบคอบ ในการรับข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่ รายละเอียด กฎกระทรวงสาธารณสุข การอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 240 วันนับจากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่า

ผู้จะขออนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม

2. เป็นผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

3. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง โดยการขออนุญาตเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด เท่านั้น

การออกมาชี้แจงดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน มีการถกเถียงกัน บนสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับกฎกระทรวงนี้ ในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง เข้าใจว่า รัฐบาลเปิดให้สามารถครอบครอง หรือจำหน่าย มอร์ฟีน โคเคน ได้แล้ว จึงขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

“กฎกระทรวงดังกล่าว มีไว้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และราชการเท่านั้น ผู้ที่ครอบครองหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ยังมีความผิดตามกฎหมาย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้ความรอบคอบในการรับข้อมูลข่าวสาร และอย่าหลงเชื่อข่าวลวงว่าสามารถครอบครองหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ได้แล้ว

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงการอนุญาตจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ใจความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 17 วรรคสาม มาตรา 23 วรรคสาม มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 62 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ กฎกระทรวงนี้

ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2522  ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 คือยาเสพติดให้โทษทั่วไป มี 102 รายการ เช่น ใบโคคา โคคาอีน หรือโคเคน โคเดอีน ยาสกัดเข้มข้นของต้นฝิ่นแห้ง เมทาโดน มอร์ฟีน ฝิ่นยา (ฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา) ฝิ่น (ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น)

ผู้อนุญาตจะพิจารณาออกใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตมีความประสงค์ที่จะจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์

(2) เพื่อการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์

(3) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ

ผู้อนุญาตจะพิจารณาออกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตมีความประสงค์ที่จะครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติดประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย)

(2) เพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา

(3) เพื่อการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์

(4) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ

(5) เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ในเรือหรือเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo