Politics

iLaw ชี้สภาฯ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก ‘น่าอับอาย’ ไม่ให้เกียรติเสียงประชาชน

“iLaw” ชี้สภาฯ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ วาระแรก “น่าอับอาย” ไม่ให้เกียรติเสียงประชาชน เชื่อวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย

วันนี้ (18 พ.ย. 63) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก iLaw หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw ถูก รัฐสภา ตีตกในวาระแรก เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวเท่ากับไม่ให้เกียรติเสียงประชาชนกว่าแสนคนและปิดประตูการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการ แต่เชื่อว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

iLaw ร่างรัฐธรรมนูญ 5465

“#ก่อนท้องฟ้าจะสดใส : วันนี้ไม่ใช่วันสุดท้ายที่ประชาชนจะต่อสู้

เป็นที่น่าผิดหวัง ที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไว้พิจารณา

การพิจารณาลงมติของรัฐสภาที่ผ่านไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เป็นเพียงการลงมติใน “วาระแรก” เท่านั้น หมายความว่า เป็นขั้นตอนของการพิจารณาหลักการที่เสนอเข้ามา ซึ่งถ้าหลักการนั้นรับฟังได้ รัฐสภาก็จะนำไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป หากในรายละเอียดนั้นมีสิ่งที่เห็นแตกต่างกัน หรือพบปัญหาในทางเทคนิคกฎหมาย ก็สามารถนำไปแก้ไขได้ในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งเป็นทั้งอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประชาชนผู้เสนอกฎหมาย

ในระหว่างการอภิปรายก่อนลงมติ ก็ยังไม่เห็นสมาชิกรัฐสภาที่อภิปรายได้ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการใหญ่ของข้อเสนอที่ต้องการ “รื้อ” ถอนอำนาจของระบอบ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และ “ร่าง” รัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนทุกคน มีแต่การยกเหตุผล “นอกประเด็น” และปัญหาในทางเทคนิคขึ้นมากล่าวอ้าง

ดังนั้น การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ในวาระแรก จึงนับเป็นการไม่ให้เกียรติต่อเสียงของประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกว่าแสนคน เป็นความน่าเสียดายที่ข้อเสนอของประชาชนที่สะท้อนเจตจำนงค์ร่วมกันไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของร่างอื่นๆ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง นอกจากนั้น ยังนับเป็นการปิดโอกาสที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยกลไกในระบบเพื่อสร้างกติกาใหม่ที่จะหาทางอยู่ร่วมกัน และพาสังคมไปข้างหน้าด้วยกัน

iLaw ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่รับ

ข้อเสนอของภาคประชาชนที่นำมาเสนอต่อรัฐสภานี้ อาจมีทั้งข้อดีและข้ออ่อนอยู่บ้าง ซึ่งโดยหลักการสำคัญที่ประชาชนต้องการจะเห็นสมาชิกรัฐสภาก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่จะปฏิเสธได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น การลงมติไม่รับหลักการตั้งแต่ในวาระแรก ของรัฐสภาจึงเป็น เหตุการณ์ที่น่าอับอาย

จากสถานการณ์การตื่นตัวของประชาชนในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประตูที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ารัฐสภาจะลงมติอย่างไรในวันนี้ก็ไม่อาจปิดประตูบานนี้ได้ แต่เมื่อรัฐสภาแสดงออกว่า ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ ก็เท่ากับผลักดันให้ผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้กระบวนการและช่องทางอื่นแทน ซึ่งเมื่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงไม่ผลักดันข้อเรียกร้องของประชาชน ก็นับเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า กลไกแบบใดที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน

การรณรงค์เพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช. ออกจากรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพียงการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อำนวยการโดย iLaw ความตื่นตัว ความตระหนักรู้ และความกระตือรือร้น ได้แผ่กระจาย แทรกซึมเข้าไปในสังคมวงกว้างแล้ว เมื่อประตูสู่การ “สร้างสังคมใหม่” ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญได้ถูกเปิดขึ้น มันไม่อาจปิดลงได้เพียงเพราะการลงมติไม่กี่ครั้งของสมาชิกรัฐสภา แต่มันจะเดินหน้าต่อไปแบบแนวราบ โดยคนอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยความหวัง ด้วยความจริง ด้วยเหตุผล ซึ่งก็จะเกิดเป็นข้อเรียกร้องที่อย่างไรเสียจะต้องถูกตีกลับมายังรัฐสภาอีกอยู่อย่างแน่นอนในวันข้างหน้า จนกว่าสามัญสำนึกของคนที่อยู่นั่งอยู่ในสภาจะทำงาน

วันนี้จึงไม่ใช่วันสุดท้ายที่สมาชิกรัฐสภาต้องตอบคำถามประชาชน และไม่ใช่วันสุดท้ายที่ประชาชนจะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง”

iLaw ร่างรัฐธรรมนูญ

โหวตคว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญ iLaw

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ไม่ผ่าน” ความเห็นชอบจากรัฐสภา
18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมสภามีนัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ร่าง แบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ร่าง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 1 ร่าง
โดยผลการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีรายละเอียดดังนี้
  • มติเห็นชอบ จำนวน 212 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 1 เสียง
  • มติไม่เห็นชอบ 138 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 60 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 78 เสียง
  • มติงดออกเสียง 369 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 213 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 156 เสียง
จากผลการลงมติดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนกว่า 100,732 ชื่อ มีผลต้องตกไป เนื่องจากเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา หรือ ไม่ถึง 366 เสียง
อีกทั้ง เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เพียง 3 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเงื่อนไขไม่ผ่านเงื่อนไขที่ต้องมีคะแนนเสียงจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo