The Bangkok Insight

‘S&P’ คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย BBB+ ต้องติดตาม ‘การเมือง’ ใกล้ชิด

“S&P” มองการเงินการคลัง ประเทศไทย เข้มแข็ง คง อันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ แต่จากนี้ต้องติดตาม “เศรษฐกิจ-การเมือง” ใกล้ชิด

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 พ.ย. 63) บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คง อันดับความน่าเชื่อถือ ของ ประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) อยู่ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้

S&P อันดับความน่าเชื่อถือ ประเทศไทย

1.สถาบันจัดอันดับ S&P คง อันดับความน่าเชื่อถือ ขอ งประเทศไทย ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล และสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อีกทั้ง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า

2.ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 – 2564 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการคลัง

S&P อันดับความน่าเชื่อถือ ประเทศไทย

3.S&P เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตในระยะปานกลางได้ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น 6.2% เป็นผลจากการภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้

อีกทั้ง รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Public Private Partnership) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ

4.ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย S&P คาดว่าสภาพคล่องต่างประเทศ (External liquidity) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับคงที่และไม่น่ากังวล นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

สำหรับประเด็นที่ S&P ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง

เศรษฐกิจ ถนน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ sme

กลางปี S&P เพิ่งปรับลดเรตติ้งประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา S&P บริษัทจัดเรตติ้งระดับโลก เพิ่งทบทวนและปรับลดระดับ อันดับความน่าเชื่อถือ ประเทศไทย จากมุมมองเชิงบวก (Positive) เป็นระดับเสถียรภาพ (Stable) เพราะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งจะต้องช้าออกไปอีก จากสภาพเศรษฐษกิจและสังคมที่ไม่แน่นอน ร่วมกับปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม S&P แจ้งว่ายังคงระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศไว้ที่ BBB+ และตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศไว้ที่ A-2 ด้านระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทอยู่ที่ A- และตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินบาทอยู่ที่ A-2 รวมทั้งยังคงระดับการประเมินความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินไว้ที่ระดับ A ตามเดิม

ทั้งนี้ S&P อาจปรับเพิ่มเรตติ้งของประเทศไทยขึ้นในอนาคต หากระบบรัฐสภาแบบรัฐบาลผสมมีการพัฒนามากขึ้นตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดย S&P ระบุว่าต้องการเห็นระบบการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและช่วยแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม บริษัทก็อาจจะปรับลดเรตติ้งของประเทศไทยลงอีก หากเศรษฐกิจของประเทศยังฟื้นตัวล่าช้าและอ่อนแอมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

GDP ไตรมาส 3

ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจและภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2563 ว่า ในตรมาสที่ 3 ปี 2563 ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของไทยหดตัว -6.4% ถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์มากและปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่ง GDP ติดลบ 12.1% ด้าน GDP งวด 9 เดือนของปี 2563 ติดลบอยู่ที่ -6.7%

ปัจจัยสำคัญที่กระทบตัวเลข GDP ในไตรมาสนี้ มาจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ภาคการก่อสร้าง และสาขาการเงินที่ขยายตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนรวม การนำเข้า-ส่งออกสินค้าและภาคบริการยังติดลบ

ด้าน GDP ทั้งปี 2563 คาดว่า จะหดตัวลดลงเหลือติดลบ 6% จากเดิมคาดว่าจะติดลบสูงถึง 7.3-7.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo