Business

เปิดพิรุธ! ข้อเสนอต่อสัญญารถไฟฟ้าสีเขียว – เผือกร้อนรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’

เผือกร้อนรัฐบาล”บิ๊กตู่” ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายเขียวอีก 30 ปี ให้ BTS ขณะที่สังคมตั้งข้อสงสัยเพียบ ทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำไมต้องใช้มาตรา 44 ทำไมไม่เปิดประมูลใหม่ กมธ.คมนาคม เตือนอย่าดันทุรัง 

ประเด็นการขยายสัญญาสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย” ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะครบอายุสัมปทานในปี 2572 (อีก 9 ปี) แล้วเมื่อขยายอายุสัมปทานแล้ว จะครบอายุสัมปทานในปี 2602 โดย BTS จะต้องแลกกับเงื่อนไขรับหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท และอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

เปิดข้อพิรุธต่อสัญญาสัมปทนรถไฟฟ้าสีเขียว 

การเสนอที่จะต่อสัญญาให้กับ BTS กลับมีการตั้งข้อพิรุธไว้มากมาย

1. เป็นการหนีสัญญาเก่า หนีพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยใช้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTS เดินรถ  ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว เหตุใด กทม. ยังจะต่อขยายสัมปทานอีก โดยอ้างว่าทำตามมาตรา 44  ถือว่าทุกอย่างเป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยอนุโลม

รถไฟฟ้า 201122

สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวในเมือง หลายคนเรียกว่า“ไข่แดง” เป็นสัมปทานรูปแบบ PPP Net Cost ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ครบสัญญาในปี 2573

ขณะที่สัญญาส่วนต่อขยายด้านเหนือ (ไปคูคต) และด้านใต้ (ไปสมุทรปราการ) เป็นรูปแบบ PPP Gross Cost โดยจ้างเอกชนบริหารเดินรถ และรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ ครบสัญญาในปี 2585 มีข้อสงสัยว่าหนีพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ป.ป.ช. สอบสวนอยู่

เรื่องนี้มีผู้รู้ระบุว่าจริงๆแล้ว กทม. ควรจ้างวิ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งด้านเหนือ (ไปคูคต) ด้านใต้ (ไปสมุทรปราการ) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ให้ครบสัญญาในปี 2573 จบพร้อมกับสายสีเขียวในเมือง (ไข่แดง) จากนั้น กทม.ค่อยเปิดประมูลใหม่ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ทั้งสาย  ไม่มีความเสี่ยงแล้ว ไม่ต้องลงทุนมาก จะได้มีการแข่งขันราคาได้เต็มที่  แต่หากจะดำเนินการอย่างที่เป็นอยู่ไม่มีการแข่งขัน

หากกทม.เปิดประมูลใหม่ รายได้ทั้งหมดเป็นของรัฐ จ่ายค่าจ้างเอกชนเดินรถ เงินที่เหลือ(กำไร) สามารถจ่ายคืนหนี้งานโยธาได้  แต่ถ้าต้องการเงินมาจ่ายหนี้งานโยธาก่อน  กทม. สามารถของบจากรัฐบาล หรือตั้งกองทุน Securitize คล้ายกับรูปแบบกองทุน TFF ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่นำเงินจากกองทุน Sucuritize มาก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายใหม่ 

18NOV ต่อสัมปทานสายสีเขียว

2. ทำไมไม่ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เปิดประมูลใหม่ เมื่อถึงปี 2573 แต่กลับใช้มาตรา 44 เจรจาหนีพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ หรือไม่ 

3. กทม. รู้ทั้งรู้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างวิ่ง แล้วไปเซ็นสัญญาจ้าง BTS ได้อย่างไร 

เร่งรีบใช้มาตรา 44 หนีพรบ.ร่วมทุนฯหรือไม่?  

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการเสนอขยายสัมปทานตามมาตรา 44 จะพบว่า ยังมีข้อสงสัยและเคลือบแคลงใน 4 ประเด็น

1. ใช้วิธีการแก้ไขสัญญาเดิมโดยต่อขยายสัญญาทั้งหมดออกไปอีก 30 ปีนับจากปี 2572 สิ้นสุดปี 2502

2. สัญญาที่แก้ไขเป็นสัญญาสัมปทานที่รายได้ทั้งหมดเป็นของ BTSC แลกกับการรับหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาแทนกทม. และการปรับลดค่าโดยสารเหลือ 65 บาทตลอดสาย

3. ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพ.ร.บ. ร่วมลงทุน 2562 โดยอนุโลม สัญญาจ้างเดินรถที่มีอยู่เดิมเป็นสัญญาที่มีปัญหา หนีพ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ และโดนโจมตีมาตลอด หากดำเนินการขยายสัมปทานตามมาตรา 44 จะเกิดปัญหาเป็นการดำเนินงานที่หนีพ.ร.บ. ร่วมทุน 2562

4. เอื้อประโยชน์ โดยไม่เปิดประมูลทั้งที่สัญญาหลักเหลืออีก 9 ปี (สิ้นสุดปี 2572) และมีสัญญาจ้างเดินรถทั้งหมดต่อไว้แล้วจนถึงปี 2535

ความร้อนแรงของการเสนอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหรือเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทราบว่าในการประชุมครม.วันอังคารนี้ อาจจะมีการเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมอีก เรื่องนี้อาจต้องทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างเพิ่งรีบร้อนในประเด็นที่ยังเป็นข้อโต้งแย้งในสังคม

กมธ.คมนาคม เอาด้วย! ต่อสัญญาสายสีเขียว 

ยิ่งเห็น นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาระบุว่า วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมาธิการคมนาคม มีวาระเพื่อพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนหมดสัมปทาน ไปอีก 30 ปี โดยไม่มีการประมูลตาม พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) โดยมีการเชิญคณะกรรมการตาม มาตรา 44 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในข้อ 3 ที่ให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งบุคคลโดยตำแหน่งเป็นกรรมการ

2MOT 2562 12 04 รวค.ต้อนรับคณะกมธ.คค. by PP 201

มีบุคคลโดยตำแหน่งที่ถูกเชิญมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการคมนาคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด และปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง  ที่ประชุมจะสอบถามในข้อสงสัยของสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งการต่อสัญญาสัมปทานโดยไม่รอให้ครบอายุสัมปทาน ไม่มีการเปิดประมูล และราคาค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสายมีรายละเอียดการคำนวณอย่างไร ก่อนที่จะยื่นให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณา แต่หากไม่ดำเนินการ” สภาผู้แทน มีมาตรการต่อไปคือ การยื่นกระทู้ ไปจนถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายโสภณ ย้ำ

ทำไม? ต้องเลือกใช้ม.44 

ขณะที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.อนุมัติขยายสัมปาทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี นั้น การถอนเรื่องออกจากวาระจรในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ไม่ใช่ครั้งแรก เรื่องนี้มีการดำเนินการมาก่อนและเสียรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว 2 คน คือนายอุตตม สาวนายน และ นายปรีดี ดาวฉาย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสัญญาให้ BTS โดยอาศัยคำสั่ง คสช.ที่3 /2562 อ้างอำนาจมาตรา 44 และ เห็นควรว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จึงเป็นคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายปกติ แต่เลือกที่จะใช้อำนาจมาตรา 44 ต่อไป และที่สำคัญทราบมาว่ารัฐบาลจะรีบนำเรื่องเข้าครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยเป็นรายละเอียดเช่นเดิมใช่หรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight