Lifestyle

ฟังแนวคิด HobbieSpace อนาคตคนดิจิทัลต้องสร้างจาก ‘แรงบันดาลใจ’

 

1538385970

หากเอ่ยถึง “ห้องเรียน” หลายคนอาจนึกถึงห้องสี่เหลี่ยม ภายในมีเนื้อหาการเรียนการสอนหนักอึ้งที่ต้องท่องจำให้หมด หรืออาจเป็นภาพของห้องที่ห้ามทำผิด ใครทำผิดระเบียบต้องโดนทำโทษจนผู้เรียนเข็ดขยาด

ตัดกลับมาที่ภาพการทำงานในปัจจุบันและในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคลากรที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ มองหาคือคนที่แข็งแกร่ง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีทักษะในงานที่องค์กรต้องการให้ทำ หรือหากเคยล้มเหลวมาก่อน และสามารถบอกเล่าบทเรียนที่ได้รับจากความผิดพลาดนั้น ๆ ด้วย ก็ยิ่งดี ด้วยเหตุนี้ ภาพของห้องเรียนในย่อหน้าแรกจึงอาจไม่ใช่สถานที่ที่จะสร้างบุคลากรตามที่โลกอนาคตต้องการอีกต่อไป แต่อาจเปลี่ยนเป็น

  • การมีห้องเรียนที่เด็ก ๆ สามารถช่วยกันคิดคำนวณ และช่วยกันหาคำตอบ เมื่อพบแล้ว นักเรียนในห้องก็ช่วยกันบันทึกลง MindMap ที่แชร์ผ่านคลาวด์ เพื่อให้เพื่อนและคุณครูดูร่วมกันได้
  • การเป็นห้องเรียนสำหรับสร้าง หรือบ่มเพาะคนที่มี Passion เช่น เด็กที่มีความสนใจในเกม แทนที่จะเล่นเกมจนติด เปลี่ยนเป็นการหัดสร้างเกมผ่านการเขียนโปรแกรม และการทำแอนิเมชัน ซึ่งสามารถนำไปบูรณาการต่อยอดได้ในอีกหลาย ๆ สาขาวิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือสังคม รวมถึงอาจกลายเป็นนักสร้างเกมตัวจริงได้ในอนาคต
  • มีห้องเรียนที่สร้างทักษะที่จำเป็นกับการทำงานในโลกยุคต่อไป เช่น ทักษะด้านการถ่ายภาพ ทักษะด้านการเขียนโปรแกรม ทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ และบรรยากาศของการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ซึ่งภาพของห้องเรียน ในบรรยากาศ 4.0 ดังที่กล่าวมานั้น เราพบว่าเกิดขึ้นแล้วบนพื้นที่ร่มรื่นย่านสนามบินน้ำภายใต้ชื่อ “HobbieSpace” โดยมี “คุณปฐม และคุณมณฑกานต์ อินทรโรดม” เป็นผู้สร้างขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของ HobbieSpace เกิดขึ้นจากอินไซต์ภายในครอบครัวอินทรโรดม กับบทบาทพ่อแม่ที่มักมองหากิจกรรมมาต่อยอดจากความสนใจของลูก ๆ

1538474847
คุณปฐม และคุณมณฑกานต์ อินทรโรดม

“จากที่เราเลี้ยงลูกมา เราได้เห็นจากประสบการณ์จริงว่ามีศาสตร์อีกหลายแขนงที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของลูกในวันที่พวกเขาโตขึ้นไป เช่น ศิลปะมีผลต่อการถ่ายทอดความคิด การทำงานปั้นมีผลต่อความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ การเรียนด้านโปรแกรมมิ่งมีผลต่อตรรกะ หรือแม้แต่ทักษะการพูดในที่สาธารณะก็เป็นสิ่งจำเป็น” คุณมณฑกานต์ ผู้จัดการ HobbieSpace กล่าว

“คือเราค่อนข้างเชื่อว่า หลังจากนี้อีก 4 – 5 ปี โลกแห่งการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจจะเริ่มไม่สนใจแล้วว่าคุณจบจากที่ไหน เกรดอะไร แต่จะดูว่างานที่เขาทำต้องการคนที่มีทักษะอย่างไร ถ้าคุณมีทักษะนี้ คุณเอางานไปเลย จึงมองว่าการเสริมสร้างทักษะที่อยู่นอกเหนือหลักสูตรการเรียนในโรงเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูก ๆ ในโลกแห่งการทำงานที่จะเกิดขึ้นในโลกยุคต่อไป”

1538385910

 

ด้วยเหตุนี้ ภาพของห้องเรียน 4.0 ในสไตล์ของ HobbieSpace จึงมีศาสตร์การเรียนรู้หลาย ๆ แขนงปรากฏอยู่รวมกัน ทั้งการเขียนโปรแกรมสร้างเกม, การเรียนศิลปะด้วยการวาดภาพ ปั้นดิน, การเรียนดนตรี, การถ่ายภาพ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ เกิดจากการได้พูดคุยกับเด็ก ๆ ในวัยเรียนรู้ที่ต่างเสนอออกมาเองว่า พวกเขาอยากเรียนเรื่องอะไร ส่วนในมุมของผู้ใหญ่นั้น ก็มีหน้าที่ทำให้การเรียนรู้นั้น ๆ เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้มากที่สุด

ด้านคุณปฐม อินทรโรดม ในฐานะที่ปรึกษาเสริมว่า “ต้องยอมรับว่าโลกดิจิทัลทำให้เกิดช่องทางด้านอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ในอดีต ใครจะคิดว่า ภาพคนจับมือกันจะขายได้บนอินเทอร์เน็ต หรือธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการเข้าถึงคนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ก็เข้าถึงผ่านเพลง ผ่านยูทูบ เหล่านี้ก็ทำให้เสียงดนตรี กลายเป็นช่องทางสร้างอาชีพของคนยุคใหม่ได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็คือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เขาต้องรู้ว่าภาพแบบไหนที่จะมีคนต้องการซื้อ เพลงแบบไหนที่คนต้องการเสพ และต้องมีนวัตกรรมเข้ามาร่วมด้วย ที่จะทำให้มันสามารถเผยแพร่ออกไปได้ยังคนหมู่มาก”

ทั้งหมดนี้ ทั้งคุณปฐมและคุณมณฑกานต์เชื่อว่า ห้องเรียนที่แท้จริงในยุค 4.0 อาจเป็นการย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นว่าจริง ๆ แล้ว ทักษะจำเป็นที่เด็กควรเรียนรู้นั้นมีอะไรบ้าง เวลาที่เหลือหลังจากนั้น จึงค่อยนำสิ่งที่เป็น Passion ของเด็กเสริมเข้าไป เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความกลมกล่อม และสามารถหาเส้นทางที่ตนเองชอบพบ แต่สำหรับพ่อแม่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เพื่อรองรับการมาถึงของโลกยุคดิจิทัลได้อย่างไรนั้น คุณมณฑกานต์แนะนำว่า สิ่งที่ต้องมีคือความหูไวตาไว รับฟังข่าวสารต่าง ๆ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

“ทุกวันนี้ ก็พบว่ามีพ่อแม่ที่กล้าจะให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะพ่อแม่กลุ่มโฮมสคูล ที่หลายคนบ้านอยู่ไกล แต่ก็บินมาหาเราถึงที่นี่ เพื่อบอกว่าสิ่งที่เขาขาดคืออะไร ทำไมถึงสนใจในหลักสูตรที่เรามี ซึ่งการเรียนในลักษณะนี้ เราบอกได้ว่า คนที่ทำก็ต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง แล้วก็ต้องมีประสบการณ์จริง คือเริ่มจากลูกของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีเข้ามาค่อนข้างมาก พ่อแม่ต้องฉลาดเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ลูก เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะทำให้เด็กสนใจก็คือ สิ่งที่เป็น Passion ของเขา”

1538385858

“จากสิ่งที่เด็ก ๆ มาคุยกับเราว่าเขาอยากเรียนอะไร ทำให้เราพบว่า ในสิ่งที่เรียกว่าห้องเรียนไม่มีการหยุดนิ่ง ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเราต้องปรับตัวตลอดเวลา”

ด้านคุณปฐม เผยว่า แทนการชี้นำ บางทีหน้าที่ของพ่อแม่คือการถ่ายทอดความเป็นไปของโลกให้ลูกฟัง และให้ลูกเลือกด้วยตัวเองว่า เส้นทางใดที่เขาจะเลือก ซึ่งแนวทางนี้ใช้ได้กับทุกสาขา รวมถึงเส้นทางในยุคดิจิทัลด้วย

“หน้าที่ผมตอนนี้คือ เล่าความเป็นไปของโลกให้ลูกฟัง ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่เคยเล่าให้ลูกฟังแล้วลูกจำได้แม่นเลยก็คือ ผมเคยเจอบิล เกตส์ และเคยถามบิล เกตส์ว่า ถ้าวันนี้คุณไม่ได้ทำไมโครซอฟท์ คุณอยากทำอะไร บิล เกตส์ตอบว่า เขาอยากทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก”

ในวันที่นโยบาย Thailand 4.0 กลายเป็นเครื่องมือขายฝันของนักการเมืองหลาย ๆ คน และเป็นนโยบายที่กำลังเผชิญปัญหาการขาดความเข้าใจ การขาดทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงขาดแคลนบุคลากรอย่างหนักนั้น บางทีหากหันมองรอบ ๆ ตัวกันสักนิด ก็อาจทำให้หลายคนตระหนักได้ว่า การสร้างคนดิจิทัลที่มีแรงบันดาลใจ และใช้เทคโนโลยีได้อย่างรอบด้าน อาจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก็เป็นได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight