Lifestyle

เข้าป่ากางเต็นท์ สัมผัสอากาศหนาว เสี่ยงโดนตัวไรอ่อนกัด ต้นเหตุ ‘ไข้รากสาดใหญ่’

เข้าป่ากางเต็นท์ สัมผัสอากาศหนาว กรมควบคุมโรคเตือน ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยด้วย โรคไข้รากสาดใหญ่ แนะสวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายากันแมลง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทน อธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดยาว ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยว เข้าป่ากางเต็นท์ สัมผัสอากาศหนาว ทำให้มีความเสี่ยง ที่จะถูกตัวไรอ่อน ที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อ และป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส ได้

เข้าป่ากางเต็นท์

สำหรับ โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะ โดยไรอ่อน จะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้กับพื้นดิน

ตัวไรอ่อน จะกระโดดเกาะ ตามเสื้อผ้าของคน และกัดผิวหนัง ที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก โดยส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว

หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และ บริเวณที่ถูกกัด อาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็ก ค่อย ๆ นูน หรือ มีขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ อาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวด และไม่คัน ผู้ป่วยบางราย อาจหายได้เอง แต่บางราย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมอง และ สมองอักเสบ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 พฤศจิกายน 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 3,992 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยภาคที่มีจำนวนผู้ป่วย สูงสุด คือ ภาคเหนือ จำนวน 1,912 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.9 ส่วนจังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน เชียงใหม่ และ พังงา ตามลำดับ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า สำหรับประชาชน ที่เดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะ การตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และ กางเกงขายาว เป็นต้น

ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า ให้ทาโลชั่นกันยุง ที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือ ใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งจะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัด ได้เช่นกัน

พร้อมกันนี้ ขอให้หลีกเลี่ยง การเข้าไปในบริเวณ ที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็น ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่ หรือ ตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือ บริเวณต้นไม้ใหญ่ ที่แสงแดดส่องไม่ถึง

หลังออกจากป่า ให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และ นำเสื้อผ้าที่สวมใส่ มาซักให้สะอาด ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อน ติดมากับร่างกาย หรือ เสื้อผ้าได้ จึงควรป้องกันไว้ก่อน

กรณีที่มีอาการไข้ และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติ การเดินทางเข้าป่า ให้แพทย์ทราบ โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo